top of page

งาน(หยวก)กล้วยๆ แต่ไม่กล้วย


ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงแห่งการเก็บ เก็บทั้งเงิน เก็บทั้งความงาม และที่แน่ๆคือเก็บตัว ดังนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหนนอกจากจะร้างผู้คนแล้วยังจำกันไม่ได้ เพราะทุกคนต้องใส่หน้ากาก แต่เพื่อความปลอดภัยแล้วหน้ากากคือสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้

ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักเราแทบไม่ได้เห็นกิจกรรมหรืองานสำคัญต่างๆ ถูกจัดขึ้นเลยเพราะความหวาดกลัวจากภัยของโรคร้าย แม้กระทั่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เดือนที่มีประเพณีสงกรานต์ หรือประเพณีปีใหม่ไทยที่เป็นหนึ่งในประเพณีแห่งความสุขของคนไทย แต่คนไทยก็หามีความสุขไม่ จึงมีคนนำคำพูดที่ปลอบใจให้มีความสุขเมื่อนึกถึง นั้นคือคำว่า "ทิพย์" และตอนนี้ก็คงจะคุ้นหูกันดีเพราะทุกคนมีทิพย์กันไปทั่ว เราจึงโชคดีที่ได้มี“สงกรานต์ทิพย์” หรือสงกรานต์ในฝันที่ทำให้มีความสุขไปได้บ้าง

ในสงกรานต์ทิพย์เราจะเห็นการจัดงานและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่มีรากของวัฒนธรรมอันยาวนานที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่ต่างจากภาคใดในประเทศ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรมต่างๆที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง อาทิประเพณีแห่พระคู่บ้านคู่เมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล ประเพณีรดน้ำดำหัวหัวผู้อาวุโส หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโดยจัดประกวดเครื่องสักการะบูชาล้านนา เพราะเครื่องสักการะบูชาล้านนาคือมรดกสำคัญอันล้ำค่าที่ใช้เป็นสื่อหรือตัวแทนแสดงถึงความเคารพสักการะของคนในอดีต

เครื่องสักการะบูชาล้านนามีมากมายหลากหลายชนิด แต่มีชนิดหนึ่งที่ใช้ในประเพณีสำคัญสิ่งนั้นได้แก่ หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นดอก ต้นผึ้งและต้นเทียน ดังนั้นในงานสงกรานต์ที่ไม่ทิพย์จึงมีขบวนแห่ที่ต้องมีเครื่องสักการะบูชาเหล่านี้อยู่ด้วยเสมอ และแล้วก็ตื่นจากสงกรานต์ทิพย์สู่ความเป็นจริง

และหาเรื่องจริงมาสานต่อแบบไม่มีทิพย์

เครื่องสักการะบูชาล้านนาต่างๆถึงแม้จะทำด้วยความเรียบง่ายจากวัสดุที่หาง่ายใกล้ตัวในท้องถิ่นแต่ก็แฝงไว้ด้วยความพิถีพิถันอย่างตั้งใจ ผสมผสานกับภูมิปัญญาและฝีมือทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบอันน่าสนใจของเครื่องสักการะบูชาที่มักถูกมองข้ามคือ การแกะสลักหยวกส่วนฐานของเครื่องสักการะ เพราะสิ่งนี้คือหนึ่งในงานฝีมือของล้านนาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไม่ต่างจากงานศิลปะอื่นใด ศิลปะการแกะสลักหยวกล้านนายังเป็นที่ไม่น่าสนใจมากนักหากเทียบกับงานฝีมือในลักษณะอื่นเนื่องจากใช้เป็นส่วนประกอบเล็กๆของเครื่องสักการะบูชา ทำให้ไม่น่าสนใจเพราะไม่ได้วิจิตรบรรจงคล้ายงานแทงหยวกของภาคกลางที่มีความอ่อนช้อยงดงาม แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดและขั้นตอนในการทำแล้วน่าสนใจน่าศึกษา และน่าอนุรักษ์ยิ่งนัก

ศิลปะการแทงหยวกหรือแกะสลักหยวกมีนานมาแล้วในทั่วทุกภาคของประเทศ เพียงแต่มีกรรมวิธีในการประดิษฐ์ที่ไม่ต่างกัน ในภาคกลางเรียกว่า“งานแทงหยวก”เพราะเป็นการใช้มีดแทงเป็นลวดลายคล้ายงานฉลุ แต่ของล้านนาจะทำในรูปแบบ“เเกะสลัก”โดยใช้เครื่องมือแกะเป็นลวดลายง่ายๆ แต่บางลวดลายจะนำชิ้นงานมาผสมผสานประกอบเข้าด้วยกันให้เกิดเป็นมิติอย่างงดงาม

เริ่มน่าสนใจแล้วดังนั้นจึงไม่รอช้ารีบหาผู้รู้ในด้านงานฝีมือของล้านนาและได้นัดพูดคุยทางโทรศัพท์ในแบบฉบับ New Normal กับ อาจารย์ สุทธิพงศ์พัฒนวิบูลย์ ตำแหน่งกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ที่คุ้นเคยและร่วมทำงานด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาด้วยกันในหลายเรื่อง และรู้ว่าอาจารย์มีความชำนาญเชี่ยวชาญด้านงานใบตองล้านนาที่รวมถึงสวยดอก ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้งดงามและมากมายหลายแบบดังเช่นอาจารย์ จึงเป็นการการันตีว่าข้อมูลนี้ไม่มีทิพย์แน่นอน

อาจารย์ได้เล่าถึงเรื่องราวการแกะสลักหยวกกล้วยของล้านนามากมาย ทำให้ทราบถึงรายละเอียดว่า งานแกะสลักหยวกกล้วยนี้มีมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่เรามักพบเห็นในภาคกลางที่เรียกว่าการ "แทงหยวก" การแทงหยวกต้องเริ่มจากการหาหยวกกล้วย และหยวกกล้วยที่นิยมใช้คือกล้วยตานีเพราะมีสีขาวและจะมีสีคล้ำช้ากว่ากล้วยอื่นๆ โดยลอกกาบกล้วยออกเป็นกาบๆจนถึงแกนของลำต้นที่มีสีขาว จากนั้นจะทำเป็นลวดลายต่างๆตามต้องการโดยใช้มีดแทงหรือฉลุตามแบบ คัดเป็นขนาดต่างๆกันโดยขนาดใหญ่ใช้ทำกรอบรอบนอกและขนาดเล็กใช้ทำส่วนกลาง ด้านลวดลายลวดลายหลักๆมีไม่มากเช่น ลายฟันปลา ลายฟันสาม หรือ ลายแข้งสิงห์ ลวดลายส่วนใหญ่ทำตามที่ถนัดและจะเน้นอ่อนช้อยประณีตงดงาม งานแทงหยวกของภาคกลางนิยมทำในงานศพเช่นประดับเชิงตะกอนหรือประดับจิตกาธาร เป็นต้น

ส่วนงาน “แกะสลักหยวก”ของล้านนาจะต่างจากงานแทงหยวกของภาคกลางในหลายด้านเช่น ด้านการใช้งาน งานแทงหยวกส่วนมากนิยมใช้ในงานอวมงคลหรืองานศพ ส่วนงานแกะสลักหยวกจะใช้ในงานมงคลโดยใช้เป็นโครงสร้างและฐานของเครื่องสักการะบูชาเช่น ต้นดอก ต้นผึ้ง หมากสุ่มหมากเบ็งหรืออื่น ใช้ต้นกล้วยลอกกาบออกเป็นแกนใช้ทำโครงสร้างเป็นเสาและใช้หยวกกล้วยตกแต่งเพื่อทำเป็นฐานรองรับน้ำหนักสิ่งของตกแต่งด้านบน ด้านขนาด มีขนาดที่ต่างกันเพราะการแทงหยวกเพื่อประดับตกแต่งปกปิดโครงสร้างฐานวางโลงศพดังนั้นจึงมีขนาดใหญ่ ส่วนงานแกะสลักหยวกจะใช้ต้นกล้วยเป็นโครงสร้างและใช้กาบกล้วยพันโดยรอบเป็นฐานซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปแต่ต้องรองรับน้ำหนักของงานได้ ช่างที่ทำต้องคำนวณโครงสร้างอย่างรอบคอบป้องกันล้ม มีความสมดุลและมีขนาดสัดส่วนที่สวยงามตามหลักการด้านศิลปะ ด้านลวดลายตกแต่ง งานแทงหยวกมีลวดลายที่วิจิตรบรรจง ตามแต่ช่างที่ออกแบบ ส่วนงานแกะสลักหยวกจะมีลวดลายเฉพาะที่เรียบง่ายเพียงไม่กี่แบบโดยใช้รูปแบบที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเท่านั้น

ลวดลายต่างๆของการแกะสลักหยวกที่ใช้ทำฐานของเครื่องสักการะบูชาไม่ปรากฎชื่อถึงที่มาว่าใครเป็นคนคิดชื่อ ทราบแต่เพียงว่าสืบทอดกันมาจากคนในแต่ละกลุ่มแต่ละหมู่บ้าน เเต่หากสันนิษฐานก็คาดเดาว่าอาจเกิดจากการเลียนแบบสิ่งที่พบเห็น หรือจินตนาการจากสิ่งที่คล้ายกับความเป็นจริงโดยตั้งชื่อต่างๆไว้เพียงเพื่อใช้เรียกในแต่ละลวดลายให้เข้าใจเเละจดจำในการสื่อสารเท่านั้น ลวดลายของการแกะสลักหยวกในเบื้องต้นเท่าที่พบมีเพียง 10 แบบเท่านั้นเช่น ลายเขี้ยวหมาหรือลายฟันหมา สันนิษฐานว่าคล้ายกับฟันของสุนัข ลายกระดูกงูและลายท้องนาคน่าจะคล้ายกับกระดูกของงูหรือคล้ายกับลายใต้ท้องพญานาคที่พบเห็นจากงานปั้นในวัด ลายบัวหลวงและลายบัวคว่ำมีลักษณะคล้ายดอกบัวและกลีบดอกบัว ลายห่อหมาก ลายหมากเหลี่ยม และลายหมากเกี้ยวเกล้าสันนิษฐานว่ามีรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกับห่อหมากแบบต่างๆ และลายสุดท้ายคือลายข้าวตอก ซึ่งอาจดูสีขาวฟูคล้ายข้าวตอกก็เป็นได้

ลวดลายต่างๆของการแกะสลักหยวกนี้อาจารย์สุทธิพงศ์ยังได้อธิบายต่อไปอีกว่าไม่ได้เกิดจากแหล่งของสถานที่เดียวหรือคนกลุ่มเดียว แต่ได้ชื่อของลวดลายมาจากหลายแห่งหลายอำเภอ เพราะในแต่ละอำเภอจะมีช่างที่แกะสลักลวดลายเฉพาะต่างกันไป จากการที่ลงไปศึกษาทำให้พบว่าในปัจจุบันมีช่างแกะสลักหยวกที่ทำเป็นอาชีพได้แก่ ในอำเภอเมืองมี กลุ่มของบ้านวัวลาย กลุ่มบ้านช้างม่อย กลุ่มบ้านเมืองศาสตร์หลวง และกลุ่มบ้านศรีภูมิ ในอำเภอสันทรายมี กลุ่มวัดแม่ย่อยหลวง กลุ่มบ้านสันคยอม และกลุ่มบ้านสันทรายหลวง ในอำเภอสันกำแพงมี กลุ่มบ้านแช่ช้าง และอำเภอสารภีมีกลุ่มบ้านผางยอย และกลุ่มบ้านป่าแคโยง เป็นต้น แต่ก็มีคนทำเพียงไม่กี่คนเพราะทำในเทศกาลหรือทำในโอกาสพิเศษที่มีเฉพาะคนว่าจ้างเท่านั้น และคนทำหรือช่างจะต้องเป็นคนที่มีใจรักเพราะเป็นงานละเอียดที่ใช้หลายขั้นตอนในการทำ และเป็นที่น่าเสียดายเพราะในปัจจุบันช่างต่างๆเหล่านี้ได้เสียชีวิตและมีผู้สืบทอดน้อยมาก

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันงานแกะสลักหยวกจะไม่มีผู้สนใจและขาดผู้สืบทอดที่ไม่มากนัก แต่สิ่งที่จะฟื้นฟูและต่อยอดได้คือการถ่ายทอด อาจารย์สุทธิพงศ์เล่าว่าที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดโดยการส่งผลงานเครื่องสักการะบูชาแบบดั้งเดิมของล้านนาเข้าร่วมประกวด ทำให้ผู้ชมประทับใจในผลงานและได้รับรางวัลชนะเลิศ ถึงเเม้จะดีใจที่ได้รับรางวัลแต่เป็นความดีใจที่ได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งสำคัญอันล้ำค่านี้มิให้สูญหายไป นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับชุมชนจัดอบรมการแกะสลักหยวกถ่ายทอดให้กับผู้สนใจต่างๆ เพื่อเกิดการซึมซับและสืบทอดต่อไป

จากการขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทิพย์” คำเดียวขยายจนกลายเป็นทริป ทริปที่ต้องท่องเที่ยวค้นหามรดกด้านศิลปวัฒนธรรมยังดินแดนล้านนา ดินแดนที่มีเสน่ห์มีเรื่องราวน่าติดตามค้นหามากกว่าดินแดนแห่งร้านกาแฟ และปิดท้ายด้วยทิป ทิปที่ให้ด้วยความรักเพื่อช่วยกันส่งเสริมให้สิ่งดีงามเหล่านี้คงอยู่ตลอดไป

งานแกะสลักหยวกถึงแม้จะเป็นงานเล็กๆและมีรายได้ไม่มากมายนักหากเทียบกับงานฝีมือด้านอื่นๆ แต่งานแกะสลักหยวกก็เป็นงานฝีมือที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อวัฒนธรรม สร้างคุณค่าและเผยแพร่อารยธรรมของคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ให้เห็นถึงภูมิปัญญา ความคิด และความละเมียดละไมที่ปรากฎ สิ่งเหล่านี้จะสร้างเป็นพลังขับดันให้เกิดเเรงบันดาลใจสานต่ออย่างไม่มีวันสลาย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะอยู่ในโลกของวิถีใหม่วิถีแห่ง New Normal ก็ตาม


เรื่องและภาพโดย สุทธิพงศ์ พัฒนวิบูลย์

คิดว่านิ้วมือมนุษย์ทำอะไรได้มากมายยิ่งกว่าความคิด


เรียบเรียงโดย จารุนันท์ เชาวน์ดี

หาเรื่องไปเรื่อย ดีกว่าไม่มีเรื่องให้หา

Comentarios


  • Facebook
  • Instagram

©2021 by The renewal. Proudly created with Wix.com

bottom of page