top of page

" คิด" ร่วมสมัย ในวัยเกษียณ


เชียงใหม่เมืองแห่งมนต์เสน่ห์ที่เมื่อมีใครมาแล้วต้องมาซ้ำอีกเป็นรอบสอง เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีวิถีแห่งวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ถึงแม้ว่าจะมีการแทรกซึมผ่านอารยธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากความทันสมัยของสถานการณ์โลก แต่คนเชียงใหม่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับการผสมผสานและสานความสัมพันธ์ได้อย่างกลมกลืน เพื่อดำรงไว้ซึ่งจารีตของวัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเอกลักษณ์จนถึงปัจจุบัน

เช้าวันหยุดในอาทิตย์ที่สองและสามของเดือน ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่มีตลาดนัดชื่อว่า “กาดนัดเกษียณ”เป็นตลาดนัดขายของของผู้สูงวัยหรือคนวัยเกษียณที่นำสิ่งของต่างๆทั้งในอดีตหรือในปัจจุบันทำขึ้นมาขายใหม่


ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนมโบราณที่หากินยาก หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำเลียนแบบในวิถีชีวิตเดิม และการพัฒนาจากเดิมเพิ่มเติมให้เข้ากับยุคสมัยโดยเฉพาะเครื่องจักสานในแบบฉบับของล้านนา

ในกลุ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับงาน“คราฟต์ Craft”จะพบกับสุภาพสตรีสูงอายุท่านหนึ่งที่หน้าตาสดใจแฝงไว้ด้วยความเป็นมิตร กำลังจัดตกแต่งเครื่องจักสานที่ทำจากผิวไม้ไผ่หรือที่เรียกว่า “ตอก” สุภาพสตรีท่านนี้คือ “ป้าแต๋น”หรือชื่อจริงว่า คุณแทนเทพิน เหลียงชัยรัตน์ ป้าแต๋นเป็นหนึ่งในกลุ่มผลิตหัตถกรรมท้องถิ่นของ “ข่วงพวกแต้ม” คำว่า ข่วงในล้านนาหมายถึง ลานกว้างที่ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆของกลุ่มสมาชิกที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ข่วงพวกแต้มจึงหมายถึงลานของกลุ่มชุมชนงานหัตถกรรมพวกแต้ม

ป้าแต๋นเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงอันสดใสว่าได้ทำงานร่วมกับกลุ่มชุมชนข่วงพวกแต้มเพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาต่างๆของล้านนา เช่น งานหัตถกรรม งานผ้าหรือแม้กระทั่งศิลปะการฟ้อนรำ โดยแรกเริ่มได้เริ่มทำ “ย่าม” ย่ามหมายถึงถุงผ้าที่ใช้เป็นกระเป๋าใส่ของหรือสัมภาระต่างๆ แต่พอได้มาศึกษาด้านงานสานจึงสนใจและหาข้อมูลมาประกอบเพื่อสร้างเป็นงานหัตถกรรมทั้งรูปแบบเดิมและเพิ่มเติมความร่วมสมัยเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงวิถีของคนล้านนา

ป้าแต๋นเล่าว่าการทำงานของป้าในทุกเรื่องและทุกอย่างจะมีเรื่องราวหรือ “Story”และนำเรื่องราวเหล่านั้นมาถ่ายทอดออกแบบเป็นผลงาน ดังเช่นเรื่องราวของ “ต๋าแหลว”ของภาคเหนือ หรือ “เฉลว”ของภาคกลาง จะเฉลวหรือ ต๋าแหลวก็มีความหมายที่คล้ายกันคือ เครื่องจักสานที่ทำจากตอกสานขัดกันเป็นเส้นรูปตาข่ายแบบต่างๆที่มีทั้ง ห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม

คนล้านนาให้ความสำคัญกับต๋าแหลวเพราะมีความเชื่อว่าใช้เป็นเครื่องหมายที่ปัดเป่าภัยอันตรายต่างๆหรือสิ่งอัปมงคลไม่ให้มาทำอันตราย ส่วนคำว่าต๋าเเหลวในภาษาเหนือหมายถึงตาของเหยี่ยวที่เฉียบแหลม ป้าแต๋นยังเล่าต่อไปอีกว่าต๋าแหลวไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยแต่มีการใช้ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า สิบสองปันนา และลาวซึ่งมีวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายกันทำให้เชื่อมต่อและเลื่อนไหลถึงกัน

ต๋าแหลวที่ป้าแต๋นทำมีหลากหลายรูปแบบต่างกันตรงวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ เช่นต๋าแหลว 8 แฉกมีความเชื่อว่าใช้ป้องกันเภทภัยหรือสิ่งเลวร้ายเข้าบ้านคล้ายยันต์ที่ปกปักรักษา ดังนั้นในช่วงโควิด-19 จึงเป็นที่นิยม ต๋าแหลวคาเขียว 7 ชั้นใช้ในพิธีสืบชะตาเมือง สะเดาะเคราะห์หรือขึ้นบ้านใหม่ ต๋าแหลวหม้อยา 5 แฉกใช้ปักเวลาต้มยาและมีคาถากำกับว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” โดยปักไว้ 5 มุมในขณะที่ต้มยาเพื่อเป็นบทสวดแทนพระเจ้า5 พระองค์และปลุกฤทธิ์ของยาให้มีความขลังยิ่งขึ้น และต๋าแหลว 7แฉกใช้ในพิธีแรกนาบูชาแม่โพสพเพื่อขอให้ปกปักรักษานาข้าวและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับนาข้าวโดยใช้ปัก 4 มุมของพื้นที่ทำนา

การสานต๋าแหลวแบบต่างๆของป้าแต๋นมีความพิเศษต่างจากงานสานทั่วไปเพราะป้าแต๋นได้ใส่ความพิเศษลงไปในผลงานความพิเศษที่เรียกว่า “ร่วมสมัย” หรือ “Contemporary” นอกจากงานสานต๋าแหลวป้าแต๋นยังประดิษฐ์งานหัตถกรรมต่างๆอีกมากมาย เช่น ดอกไม้จากแผ่นทองเหลืองที่มีรูปแบบใหม่ หรืองานสานเครื่องสักการะบูชาที่นำมาดัดแปลงเป็นดอกไม้ ใช้เป็นปิ่นปักผมหรือพวงกุญแจและอื่นๆ

สิ่งเหล่านี้เราอาจคิดว่าเป็นสิ่งธรรมดาแต่หากมองในความคิดของนักออกแบบเเล้วมันคือสิ่งพิเศษเพราะมันคือการต่อยอดจากของเดิมและเพิ่มเติมคือการสร้างสรรค์ที่เกิดจากความคิดของคนในวัยเกษียณวัยที่คิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมในความทรงจำผสมผสานกับความคิดและจินตนาการเพื่อมองออกมานอกกรอบแล้วมองเข้าไปในกรอบที่แน่นหนาอีกครั้งโดยที่เห็นทั้งกรอบด้านในและบริบทด้านนอกเพื่อเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ที่เรียกว่าร่วมสมัยให้เหมาะกับยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

ป้าแต๋นภูมิใจมากที่ได้พัฒนาผลงานออกมาในแบบร่วมสมัยเพียงเพราะอยากให้รู้ว่าคนที่อยู่ในวัยเกษียณนั้นยังคงด้วยคุณค่าคงด้วยความสามารถในการพัฒนาสิ่งใหม่ได้ไม่แพ้คนทั่วไป การนำสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในแบบที่ยังไม่มีผู้ใดคิดมาผสมผสานกับองค์ประกอบต่างๆใส่ความกล้าในการสร้างสิ่งใหม่เพื่อให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่มีคุณค่า จุดประกายความคิดเป็นแบบอย่างในการพัฒนางานหัตถกรรมล้านนา

ในอดีตเราอาจคิดว่างานจากฝีมือหรืองานภูมิปัญญาท้องถิ่นจะตามยุคสมัยของโลกไม่ทันแต่ในปัจจุบันงานต่างๆเหล่านี้คือคุณค่าสำคัญที่สื่อถึงวัฒนธรรมในอดีต หากแต่ใส่สิ่งที่ทันยุคทันสมัยผสมผสานเข้าไป สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มความน่าสนใจและสานต่อกับยุคสมัยได้ดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผลงานการพัฒนาหัตถกรรมด้านภูมิปัญญาจะเกิดเป็นงานร่วมสมัยที่เกิดจากตัวตนของคนคิด คิดและสร้างสรรค์โดยผู้สูงวัย วัยที่สูงทั้งความคิดและประสบการณ์จากงานที่เคยเรียกว่างานหัตถกรรมคงต้องเปลี่ยนเป็นเรียกว่างาน “คราฟต์ Craft” เพื่อความทันสมัยของคุณป้าร่วมสมัย คุณแทนเทพินหรือป้าแต๋นคนร่วมสมัยวัยเกษียณของเรานั่นเอง





เรื่องโดย

แทนเทพิน เหลียงชัยรัตน์


ภาพ / เรียบเรียงโดย

จารุนันท์ เชาวน์ดี


จัดหน้าเว็บไซต์โดย

พลอยไพลิน จันกุนา






bottom of page