top of page

เลี้ยงสัตว์อย่างไรให้เป็นเพื่อนคู่ใจวัยเกษียณ


หากสัตว์เลี้ยงหมายถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อประโยชน์ สัตว์เหล่านั้นย่อมมีคุณค่า คุณค่าที่เกิดขึ้นจากกายและใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของสัตว์ที่เลี้ยง หากเราเลี้ยงสุนัขไว้เพื่อเฝ้าบ้านหรือดูแลทรัพย์สินเราคงต้องหาสุนัขที่ตัวใหญ่กำยำแข็งแรงและว่องไว แต่หากเราเลี้ยงสุนัขไว้เพื่อเป็นเพื่อนรักที่สร้างความสุข เราคงต้องหาสุนัขตัวเล็กๆที่น่ารักขนฟู อุ้มหรือพกพาไปยังสถานที่ต่างๆได้อย่างสะดวก สัตว์เลี้ยงยังมีลักษณะพิเศษอันละเอียดอ่อนอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับความรักและความเอ็นดูที่ผู้เลี้ยงมอบให้ หากใครคิดที่จะเลี้ยงสัตว์คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจากความหมายของคำว่าสัตว์เลี้ยงแสนรักจะเปลี่ยนเป็นสัตว์เลี้ยงแสนเศร้าดังที่พบเห็นสัตว์เลี้ยงถูกทิ้งในสถานที่ต่างๆมากมายเช่นปัจจุบัน

การเลี้ยงสัตว์ของแต่ละคน เเต่ละเพศ หรือแต่ละวัย มีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยหรือที่เรียกให้ดูดีว่าวัยเกษียณ ถึงแม้ว่าผู้ที่เกษียณจะมีเวลาว่างมากกว่าวัยอื่นมากมาย แต่ผู้เกษียณบางท่านก็ยังคงมีงานทำอย่างต่อเนื่องเพราะคำนึงถึงคุณค่าของชีวิต หรือบางท่านต้องการหยุดพักเพราะต้องการความสุขในบั้นปลายของชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามประสงค์ของเจตคติแต่ละผู้คน แต่ก็มีผู้เกษียณบางท่านต้องอยู่บ้านเพียงลำพังเพราะสมาชิกของครอบครัวออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้นความเหงาหรือความอ้างว้างทำให้เกิดความต้องการที่จะมีใครสักคนเป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงจึงเปรียบเสมือนตัวช่วยหรือเพื่อนที่ทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน หรือคลาย เหงาได้ในแต่ละวัน สัตว์เลี้ยงของคนวัยเกษียณส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสุนัขและแมวเพราะสัตว์สองชนิดนี้นอกจากจะมีความผูกพันแล้วยังน่ารักและเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดี

ในการเลี้ยงสัตว์ของคนวัยเกษียณมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง The Renewal จึงได้สัมภาษณ์ คุณ อิทธิพล สารพัฒน์ หรือ คุณอ้อ แห่งร้านออกแบบเสื้อผ้า Fiona คุณอ้อเคยให้สัมภาษณ์ใน The Renewal มาแล้วครั้งหนึ่งในเรื่อง ของการใช้ชีวิตของคนวัยเกษียณ แต่ครั้งนี้คุณอ้อมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจคือ เรื่องการเลี้ยงสัตว์ของคนวัยเกษียณ เพราะคุณอ้อได้เลี้ยงสุนัขไว้เป็นเพื่อนถึง 4 ชีวิต คุณอ้อเคยเลี้ยงสัตว์ไว้หลายชนิดแต่มาหยุดที่สุนัข เพราะคุณอ้อคิดว่า สุนัขคือเพื่อนแท้ที่รับรู้ทุกสิ่งและให้กำลังใจทุกอย่างทั้งยามทุกข์หรือยามสุข เพื่อนที่ทำให้มีพลังในการต่อสู้ของชีวิต คุณอ้อได้ฝากข้อคิดสำหรับคนที่ เกษียณว่าหากอยากจะเลี้ยงสัตว์สักตัวไว้เป็นเพื่อนคู่กายคู่ใจในยามเหงา ควรต้องทำอย่างไรไว้ท้ายบทสัมภาษณ์ที่อ่านแล้วน่าสนใจชวนคิดทีเดียว

คุณอ้อ ผู้ซึ่งมีชีวิตในวัยเกษียณต้นๆ ถึงแม้ว่าวัยจะเกษียณแต่ ลีลา หน้าตา และการใช้ชีวิตของคุณอ้อดูอ่อนวัยกว่าอายุจริงมากนักเพราะคุณอ้อไม่เคยมีความเครียดมีแต่ความสุขเพราะได้อยู่กับสิ่งที่ตนเองรักไม่ว่าจะเป็นอาชีพนักออกแบบที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้เลือกหรือหยิบจับผ้าและกรรไกรขึ้นมาออกแบบและตัดเย็บชุดต่างๆให้กับลูกค้าหรือแม้แต่การม้วนเรียงร้อยพับจับจีบผ้าออกแบบเป็นเครื่องประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคุณอ้อจะพบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 เเต่คุณอ้อก็ไม่หวั่น เพราะได้กำลังใจจากเพื่อนรอบกายและตั้งนิยามของตนเองไว้ว่า “ชีวิตต้องสู้”

เพื่อนรอบกายของคุณอ้อนั้นมีทั้งเพื่อนรักในหลายรุ่น หลายเพศ และหลายวัย ตลอดจนเพื่อนรอบกายสี่ขาหลายชีวิตที่ผูกพันอยู่ด้วยกันในชีวิตประจำวัน คุณอ้อเล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้มีความสุขกับเพื่อนรักสี่ขาเหล่านี้มาก เพราะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งยามเหงา อ้างว้าง ยามสนุกหรือยามสุข เรียกว่าครบทุกบรรยากาศ คุณอ้อจึงให้ความรักและความผูกพันกับเพื่อนๆสี่ขาเหล่านี้ เปรียบเสมือนความรู้สึกที่มอบให้กับ “มนุษย์”

เพื่อนรักทั้ง 4ชีวิตของคุณอ้อเหล่านี้มีสายพันธ์ุที่ต่างกันไปดังเช่น

ปอมเมอเรเนียน Pomeranian 3 ตัวที่เลี้ยงไว้ ชื่อ Fiona สุนัขขนฟูสีน้ำตาลเพศเมีย อายุ 10 ปี

Froxy สุนัขขนสีขาวเพศผู้ตัวโตที่สุดในบ้านอายุ 13 ปี แถมยังเคยเป็นแชมป์ ในการประกวด

Dastan สุนัขสีขาวสะอาดขนฟูคล้ายหมีเพศผู้อายุ 9 ปี สามตัวนี้ถึงแม้จะมีนิสัยต่างกันแต่ก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเสมอ สุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่เหมาะกับการเลี้ยงเป็นเพื่อนของผู้สูงอายุมากเพราะมีขนาดเล็กและมี พลังงานไม่สูง ไม่ต้องการพื้นที่มากและดูแลง่าย

ส่วนอีกตัวคือ พันธุ์ ยอร์ค เชียร์ เทอร์เรีย Yorkshire Terrier ชื่อ Ricci สุนัขเพศผู้อายุ 12 ปี สุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขพันธุ์เล็กอีกตัวหนึ่งที่น่ารัก ฉลาด ขี้อ้อน และจงรักภักดีมาก เป็นสุนัขอีกพันธุ์ที่ผู้สูงอายุเลี้ยงได้ดีเพราะขี้ประจบและพกพาสะดวกเพราะตัวเล็กและไม่มีพลังสูง ขนสวยไม่ผลัดขน คนเป็นภูมิแพ้จึงเลี้ยงได้ และใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มากและยังไม่ซนมาก ทำให้เป็นสุนัขยอดนิยมเลยทีเดียว

ถึงแม้คุณอ้อจะเลี้ยงเพื่อนเหล่านี้ไว้หลายตัวแต่เพื่อนเหล่านี้ก็ไม่เคยทำให้คุณอ้อลำบากใจเพราะมีการวางแผนในการเลี้ยงดูอย่างมีระบบ ตามแนวคิดที่ว่า “เราจะดูแลซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเป็นนายใคร”หรือไม่เป็น ทาสกันและกันนั่นเอง

คุณอ้อจึงได้ฝากข้อคิดให้ผู้สูงอายุมือใหม่วัยเกษียณที่อยากเลี้ยงสัตว์ในยามเหงาว่าควรต้องไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ข้อคิดของคุณอ้อที่น่าสนใจได้แก่

1. ด้านเวลาและการดูแล ผู้สูงอายุต้องมีเวลาในการดูแลเพียงพอ ต้องพาไปพบแพทย์ในยามที่จำเป็น หรือต้องมีเวลาในการดูแลเช่นอาบน้ำหรือสนใจในสุขภาพของสัตว์เป็นระยะ

2. ด้านงบประมาณในการเลี้ยง เพราะต้องมีเงินสำรองไว้ใช้สอยพิเศษเช่น ซื้อของเล่น ขนม หรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆตลอดจนอาหาร ยา หรือการพบเเพทย์

3. ด้านการเลือกสัตว์เลี้ยง ควรเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กไม่มีพลังเยอะเพราะอาจเกิดอันตรายได้หากมีการกระโดดหรือชนล้ม

4. ด้านนิสัยของสัตว์เลี้ยง ต้องเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ดุเพราะหากหงุดหงิดอาจเกิดอันตรายได้

5. ด้านการเลี้ยงดู ต้องเลี้ยงง่ายไม่ใช้เวลาดูแลมากนัก

6. ด้านความสะอาด ต้องไม่มีเชื้อโรคเพราะอาจทำให้ผู้เลี้ยงติดเชื้อโรคบางชนิดได้

7. ด้านสุขภาพของผู้เลี้ยง ผู้เลี้ยงต้องไม่เป็นโรคภูมิแพ้ขนสัตว์ซึ่งอาจทำให้แพ้ได้

8. ด้านความสะดวกในการเลี้ยง ทั้งสถานที่ในการเลี้ยงที่มีพื้นที่เหมาะสมทั้งขนาดของสัตว์เลี้ยงที่มีขนาดเหมาะสมหรือสะดวกในการพกพาไปยังสถานที่ต่างๆ

9. ด้านการสอน ผู้เลี้ยงควรอบรมหรือสอนให้สัตว์มีวินัยในการขับถ่ายเป็นที่เพื่อจะได้ไม่สร้างภาระให้กับผู้เลี้ยงในอนาคต

10. ด้านผู้ช่วยดูแล เนื่องจากบางครั้งผู้สูงอายุอาจไม่สามารถดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยตนเองได้เช่นการอาบน้ำหรือการตัดเล็บ จึงต้องมีผู้ช่วยดูเเลในแต่ละกิจกรรม

ภายหลังจากศึกษาข้อแนะนำต่างๆแล้วอาจทำให้ผู้เกษียณบางท่านยกเลิกการเลี้ยงสัตว์ไปเลยก็ว่าได้ แต่ถึงแม้จะมีข้อจำกัดที่มากมายหากเราเลี้ยงด้วยความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดเป็นความรักและความผูกพันที่ทำให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของ “สัตว์” เพื่อนที่จงรักภักดีของ “มนุษย์” สัตว์ที่มีแต่ความรัก ความจริงใจ และความซื่อสัตย์ที่มอบให้กับมนุษย์ผู้ที่เขารักอย่างไม่มีข้อแม้และไม่มีวันเสื่อมคลาย ดังเช่นเพื่อนทั้งสี่ชีวิตของคุณอ้อ อิทธิพล สารพัฒน์ ที่คิดเสมอว่า “หากลงทุนด้วยความรัก กำไรที่ได้รับคือความจริงใจ”


เรื่องและภาพโดย

อิทธิพล สารพัฒน์

เรียบเรียงโดย

จารุนันท์ เชาวน์ดี

จัดหน้าเว็บไซต์โดย

พลอยไพลิน จันกุนา



120 views0 comments
bottom of page