วัยเกษียณเขียนนิยาย ตอนที่ 1
- ลิลิตดา
- Mar 12, 2021
- 2 min read

สุดดีใจเป็นนักหนาที่ The Renewal ได้รับเกียรตินักเขียนอาวุโสกิติมศักดิ์จากแดนไกลถึงสหรัฐอเมริกามาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูงวัยได้ใช้เวลาว่างลองขีดเขียนเรื่องราวต่างๆทั้งสารคดีหรือนวนิยายเเก้เหงา คลายเครียด หรือคลายความเบื่อในยุคนิวนอร์มอล
ผู้เขียนในครั้งนี้คือคุณ เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์ หรือที่ใครๆเรียกว่า"ป้าแมว" ป้าแมวมีถึงตำแหน่งรองประธานสภาวัฒนธรรมไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา แห่งเมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนียพ่วงมาด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าจะมีเรื่องราวดีๆได้อ่านในครั้งนี้ ของดีไม่ต้องพูดมากเชิญอ่านกันได้เลยค่ะ
สุขสมวัยไปกับการอ่านเรื่องราวของ "งานเขียนหนังสือ นวนิยาย" ขอเน้นว่า เป็นการเล่าสู่กันฟังจากประสบการณ์ นะคะ มิใช่ตำราทางวิชาการแต่อย่างใด
สวัสดีค่ะก่อนอื่นขอแสดงความชื่นชมกับเพจ The Renewal ที่จัดทำออกมาได้น่าสนใจ น่าเข้ามาเยี่ยมชมเป็นน้องใหม่ไฟแรงในแวดวง blog ทุกเรื่องได้รับการคัด สรรค์มาอย่างดี ทำให้อ่านแล้วต้องติดตามไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะใช้เวลาค่อยๆอ่านตามวิถีคนเกษียณอายุแล้วเช่น ดิฉันก็ตามและเมื่อได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมเขียนในบล็อกนี้ก็รู้สึกยินดีเพราะแปล (เอาเอง)ว่าเราเองก็ได้รับ การคัดสรรค์กับเขาด้วย เพื่อไม่ให้เสียชื่อเพจ ดังนั้นงานเขียนของดิฉันคงต้องตั้งใจนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาเขียนให้เป็นประโยขน์กับสังคมตามกติกาของมูลนิธิจินดา-อภิญญา กฤษณะเศรณี ที่เป็นเจ้าของเพจก็เลยขอเลือกมาเล่าสู่กันฟังในเรื่องที่ตัวเองพอจะถนัด นั่นก็คือ "งานเขียนนวนิยาย" คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจใช้เวลาว่างยามเกษียณเขียนหนังสือนะคะ เพราะดิฉันเองก็เริ่มงานเขียนแนวนวนิยายออกพิมพ์เมื่อตัวเองเลิกทำงานอาชีพแล้ว ขอบคุณอาจารย์ ติ๊ก จารุนันท์ เชาวน์ดี ที่แนะแนวให้มาลงนะคะ แต่ไม่แน่ใจว่าเขียนแล้ว จะยาวแค่ไหน เพราะเรื่องงานเขียนการส่งงานเขียน การส่งงานให้สำนักพิมพ์ไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนกันได้สั้นๆ

ปัจจุบันดิฉันใช้ชีวิตอยู่ในเบย์แอเรียซึ่งอยู่ในมลรัฐ แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ สหรัฐอเมริกา เข้ามาอยู่อยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ถึง ค.ศ. 1993 กลับไปทำงานต่อที่ประเทศไทยจนถึง ปี ค.ศ. 2001 และอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ คือครั้งหลังที่มานี้เกษียณงานเต็มที่เลี้ยงหลานอย่างเดียว ก็หางานอดิเรกอะไรทำที่มีความสุขแบบ สสว คือสุขสมวัย (ตอนนี้ 76 ปีแล้ว) ความสูงวัยมิได้หมายความว่าเราจะต้อง "พัก งานอย่างถาวร" ดิฉันมีงานอดิเรกอยู่สามอย่างที่ "รัก" มาก คือนาฏศิลป์ไทยเล่นดนตรีไทย(ระนาดเอก) และ "เขียนหนังสือ"แล้วไงคะ มีประสบการณ์อย่างไรจึง"บังอาจ"มาแนะแนวงานเขียนทั้งๆที่ไม่ได้เป็นนักเขียนชื่อดังแต่อย่างใดเป็นเพียงนักเขียนตัวเล็กๆคนหนึ่งที่เขียนหนังสือเมื่ออยากจะเขียนไม่ได้เขียนประจำเป็นอาชีพแต่อย่างไรก็ต้องมา(โม้)

เล่าถึงตัวเองสักหน่อยล่ะค่ะ “หว่อซื่อ” ดิฉันชื่อ ชื่อเพ็ญวิภา (ปิยวิทยาการ) โสภาภัณฑ์ พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ จบอนุปริญญานิเทศศาสตร์รุ่นแรกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ปี พ.ศ 2510) ตอนนั้นเรามีชื่อคณะว่าแผนกอิสระสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์ ซึ่งตอนแรกเขาเปิดแค่อนุปริญญา ใช้ตึกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเป็นสถานที่เรียนดิฉันเรียนวิชาหนังสือพิมพ์จากที่นี่ ถึงปีที่สี่เมื่อคณะเปลี่ยนชื่อเป็นคณะนิเทศศาสตร์ ดิฉันลาออกเดินทางไปอเมริกาแต่งงาน แต่ไม่ได้ละทิ้งงานเขียนเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข ได้เขียนให้หนังสือพิมพ์ไทยแอลเอในคอลัมน์บันทึกจากเบย์แอเรียเกือบยี่สิบกว่าปี ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงงานเขียนชิ้นสำคัญในเวลาต่อมานั่นคืองานเขียนนวนิยาย โดยดิฉันได้ใช้นามปากกาว่า"ลิลิตดา" ส่งเรื่องไปให้ บ.ก.หนังสือพิมพ์ไทยแอลเออ่านดู ชื่อเรื่อง "จากเถ้าธุลี" เขาชอบและส่งต่อให้สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า และเมื่อ คุณ ณรงศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ เจ้าของ สำนักพิมพ์ดอกหญ้าในเวลานั้น ได้อ่านก็ขอลิขสิทธิไปพิมพ์ทางสำนักพิมพ์ดอกหญ้าไปเปลี่ยนชื่อเรื่องให้ใหม่ว่า "ลิขิตรักจากเถ้าธุลี" เป็นเรื่องแรกในชีวิตงานเขียน นวนิยาย เมื่อ ปี ค.ศ. 2001 และทางสำนักพิมพ์ได้เปิดตัวนวนิยายเรื่องนี้ให้ดิฉันในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 ดิฉันได้เดินทางกลับไปเมืองไทยเพื่อ(โชว์ตัว)ในงานนี้ ปลื้มใจมากมีรูปมาให้ชมด้วยค่ะ

จากเรื่องแรกมาถึงเรื่องที่สอง "จนกว่าฟ้าจะมีหงส์" ปี 2546 (ใช้เวลาเขียนสองปี) เรื่องที่สาม "บอกรักผ่านมะขามกับหวานเย็น" (ใช้เวลาเขียนหนึ่งปี) ที่ทางดอกหญ้าได้ลิขสิทธิพิมพ์และเปิดตัวให้ในงานมหกรรมหนังสือปีต่อๆมา และเรื่องต่อมา"ใจคอยใจรัก" เรื่องนี้จัดพิมพ์ โดยบริษัทปั๊มสเตชั่น และนวนิยายอีกสามเรื่อง "ล้วนเป็นเหตุให้รักเธอ" พิมพ์เองและจำหน่ายโดย บ.เคล็ดไทย ต่อมาเรื่อง "ถึง นายก้อนอิฐข้างบ้าน" (เรื่องนี้พิมพ์แจกงาน ฌาปนกิจคุณแม่) และ "รหัสอโลฮา" ลองพิมพ์เองจำหน่ายออนไลน์เอง ไม่นับที่ส่งเรื่องสนุกๆแนวสาระหรรษาของ ต่วย ตูน พ็อกเก็ตแมกาซีนไปแล้วได้ลงทั้งหมดเจ็ดเรื่อง (อันนี้เขียนโดยใช้ชื่อ เพ็ญวิภา ปิย วิทยาการ) ส่งอย่างไร เขาจ่ายเงินให้เท่าไร จะค่อยๆทะยอยเล่านะคะ ว่าไปแล้วการได้รับลงต่วย ตูน พ็อกเก็ตบุ๊ก เป็นความภูมิใจสุดๆ เพราะต้องผ่านกอง บ.ก.ที่หินมากค่ะ และบทความเคยได้ลงนิตยสารสกุลไทยหนึ่งครั้ง อันนี้ก็ หินเหมือนกันค่ะ ส่งสามครั้งได้ลงหนึ่งครั้ง!! ท้าวความยาวเพื่อจะเล่าว่า ประสบการณ์มีจริงทั้งที่เขา รับพิมพ์และพิมพ์เอง ทำอย่างไรให้เขารับพิมพ์ พิมพ์เอง ทำอย่างไรติดต่อใคร ผ่านกระบวนการอะไรบ้าง จัดจำหน่ายอย่างไร ความยุ่งยากในเรื่องส่งหนังสือ เรื่องขายหนังสือไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นระยะหลังนี้ดิฉันจึงเลือกที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนอิสระ แปลง่ายๆคือเขียนแล้วไม่รับเงิน เพราะเราเขียนแล้วมีความสุข ไม่ต้องโดนกดดัน เมื่อไรก็ตามเรารับเงินจากใครเขาก็จะบังคับให้เราทำตามกฏเกณฑ์ต้องส่งตรงเวลา ก็ในเมื่อเราทำเพื่อความสุข เราไม่ได้ทำเป็นอาชีพแล้วเราไม่รับเงินใครก็มาเร่งงานเราไม่ได้ เขียนเมื่ออยากเขียน มีบล็อกของตัวเองและบล็อกที่ โอเคเนชั่น นี่แหละค่ะที่ดิฉันเรียกว่า "วิถี ส.ส.ว. สุขสมวัย"

หัวข้อที่ดิฉันตั้งใจจะมาเล่าสู่กันฟังให้กับผู้ที่สนใจเขียน หนังสือแต่ไม่ทราบจะเริ่มอย่างไร (คนเขียนเป็นโปรดข้าม ไป) เริ่มอย่างไร เขียนแล้วจบให้ได้อย่างไร เพราะอันนี้เป็น โจทย์ยากที่สุด ถ้าคุณเขียนไม่จบนิยายคุณยาวไปเรื่อยๆ ส่งไปทางกอง บ.ก. เขาไม่รับนะคะสิ่งแรกเลยจะเล่าถึงงานเขียนนวนิยายนะคะ การจะเขียนนวนิยายนั้นก่อนอื่นคุณควรมีคุณสมบัติ “ชอบอ่าน นิยาย” นะคะ ดิฉันอ่านนิยายมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมไม่มีเงินซื้อหนังสือก็ไปเช่าเอา ที่บางลำภูมีร้านเจ้าประจำ อยู่ ไม่ไกลจากวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม เดี๋ยวนี้คงไม่มีแล้วและที่มาเขียนนิยายเองเพราะความที่ว่าเรื่องที่ชอบๆนั้นมัน จบแบบไม่ใช่ที่เราต้องการ อย่ากระนั้นเลยเขียนเองดีกว่า ทีนี้พอจะเขียน เขียนแนวไหนล่ะคะ แนวรัก แนวสืบสวน แนวตลกขบขัน อันนี้คุณคือคนเลือก ดิฉันยึดหลักว่า"ถ้าขนาดเราเขียนเรายังไม่สนุก จะเขียนทำไม" คือเราอ่านเองต้องสนุกด้วย ส่วนข้อต่อไปใครคือคนที่คุณอยากให้อ่าน ข้อต่อไปเขียนเพื่อขายหรือไม่ ถ้าเขียนเพื่อขายก็ต้องตามใจตลาด(ดูละครตามช่องต่างๆคุณจะทราบเองว่าตลาดซื้อเรื่องแบบไหนไปลง) ของดิฉันเขียนตามใจที่ตัวเองอยากอ่านค่ะ ทะเลาะวิวาทตบตีแย่งคนรักกัน อั๊ว หม่ายค่ะ...
ถ้าคุณชอบท่องเที่ยวแต่ไม่อยากเขียนแบบสารคดี ก็เขียนเป็นนิยายเลยค่ะ หาพล็อตเอาแล้วโยงสถานที่ อันนี้ แหละค่ะ แนวดิฉัน เพราะงานเขียนเชิงวิชาการนั้นมีคน เขียนเยอะและยังต้องค้นคว้าเขียนผิดไม่ได้สนุกไม่มี ยกตัวอย่าง เรื่องแรกของดิฉันอยากเล่าถึงสถานที่ท่องเที่ยวในซานฟรานซิสโก ก็พอดีมีเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรด วัน 911 เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนสี่ถึงห้าเดือนค่ะ อีกเรื่องที่นำโยงเรื่องสถานที่เที่ยวคือเรื่องหลังสุดของดิฉัน "รหัสอโลฮา" พาเที่ยวฮาวายกับนำเรื่องสืบสวนค้ามนุษย์มาโยง แต่เรื่องนี้เขียนยากมากค่ะ ใช้เวลาถึงเจ็ดปี เขียนๆหยุดๆทั้งๆที่มีพล็อตแต่โยงยากจบยากค่ะ ในที่สุดก็จบได้แบบ แฮปปี้เอ็นดิ้ง แนวงานเขียนแบบท่องเที่ยวเชิงนิยายนี้ ยิ่งคุณคุ้นเคยกับสถานที่เหล่านั้น งานเขียนของคุณก็จะได้รับ ความสนใจจากผู้อ่านมากขึ้น ศ ประภาศรี สีหอำไพ ผู้ที่ดิฉันเคารพรักท่านเคยบอกดิฉันว่าการเขียนวนิยายนั้นสอนกันไม่ได้

การเขียนนวนิยาย ไม่ใช่เป็นเพียงงานศิลปะ หากเป็น "งานฝีมือ" ด้วยรู้สึกว่าคงแค่อินโทรงานเขียน วันนี้ก็หมดเนื้อที่แล้ว กระมังคะ คงจะต้องขอต่อเป็นหัวข้อต่อไปโอกาสหน้าดี ไหมคะ จะเล่าถึงที่ดิฉันเริ่มจากการวางพล็อตตัวละคร การนำส่งงานที่เขียนจบแล้ว และหากอยากจะพิมพ์เอง จำหน่ายเอง เริ่มอย่างไรติดตามกันนะคะถ้าสนใจค่ะ เพ็ญวิภา (ปิยวิทยาการ) โสภาภัณฑ์ “ลิลิตดา” 25 กุมภาพันธ์ 2564

เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์
ชอบความเป็นไทย ถึงแม้ไปอยู่แดนไกล ยังรักในวัฒนธรรมไทย
จึงมีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไม่เคยลืม
Comments