top of page

วัยเกษียณเขียนนิยาย ตอนที่ 2

Updated: Apr 6, 2021

วันนี้คุณพร้อมที่จะท่องไปในโลกจินตนาการหรือยังคะ….วัยเกษียณเขียนนิยาย ใครชอบจิบชา/กาแฟ/หรือเครื่องดื่มระหว่างอ่านเชิญตามอัธยาศัยค่ะ

เริ่มค่ะ ปล่อยใจให้ล่องลอย เลือกงานเขียนที่ชอบ นวนิยายก่อนดีไหมคะ ข้อดีของการเขียนนวนิยายคือไม่ต้องมีความถูกต้องในเรื่องข้อมูล แต่ที่ต้องมีคือต้องยึดหลักมารยาทและศีลธรรมค่ะ

สิ่งแรก จะเขียนโดยใช้ ชื่อจริงหรือนามปากกา หากใช้นามปากกาก็ค้นคว้าหน่อยนะคะ อย่าให้ไปซ้ำกับคนอื่น ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ยากหน่อย ไม่ทราบจะเช็คอย่างไร สมัยนี้พิมพ์นามปากกาไปในกูเกิ้ลเสริชเลยค่ะ ถ้ามีชื่อที่เราจะใช้มีคนใช้แล้ว มันก็จะชะแว้บมาให้เห็นโดยไม่ต้องเหนื่อยแรง


ต่อไป เขียนแนวอะไรดีคะ ...นิยายข้ามภพ ภพปัจจุบัน หรือย้อนยุค ในเมื่อมันเป็นนิยายก็ไม่ต้องห่วงข้อมูลอย่างที่เกริ่นแต่แรก แต่หากเป็นนิยายประเภทท่องเที่ยว อิงสถานที่จริง นิยายอิงประวัติศาสตร์ หากมุ่งจะให้ความรู้กับผู้อ่านจริง ๆก็ควรจะให้อยู่ในความเป็นจริง


ต้องการบุคคลประเภทใดเป็นผู้อ่าน หรือใช้คำหรู ๆภาษาฝรั่งก็คือ ใครเป็น target group ของคุณคะ เด็ก หรือผู้ที่อายุสิบแปดปีขึ้นไป แต่ถ้าจะเขียน X Rate อันนี้เชิญไปอ่านคำแนะนำจากที่อื่นนะคะ ณ ที่นี้ไม่มีคำแนะนำค่า…



แรงบันดาลใจที่จะเขียนเรื่อง มีไหม ถ้ามีนี่คือตัวช่วยในการวางพล็อตที่ดีเยี่ยมค่ะ เพราะเมื่อมีแรงบันดาลใจหรือจุดมุ่งหมายในการเขียน ก็จะทำให้เราวางพล็อตได้ง่ายขึ้น

ทีนี้ข้อต่อไปก็เริ่มวางพล็อตค่ะ เตรียมกระดาษโน๊ต หรือโน๊ตแพ็ด ตามสะดวกตามสมัยค่ะ คือจะเป็นแนวสนุกสนาน ขำขัน โรแมนติก สืบสวน เศร้า หรือจะจบแบบสั่งสอนแนวธรรมะ อะไรก็ตามตั้งประเภทงานเขียนไว้ก่อนค่ะ


ชื่อเรื่อง เมื่อได้ประเภท ก็ต้องมาตั้งชื่อเรื่อง เรื่องแบบโรแมนติกหวานแหวว เศร้า แนวสืบสวนสอบสวน หรือแนวดราม่าหาเช้ากินค่ำอย่างไร ภพปัจจุบัน หรือข้ามภพข้ามสวรรค์ ก็ควรหาชื่อให้คนจินตนาการได้ทันที อันนี้ก็ยากค่ะ และต้องระวังไม่ให้ไปซ้ำกับใครเขาได้ นิยายที่ออกพิมพ์แล้วเขาจดลิขสิทธิ์กันทั้งนั้นค่ะ อาศัยกูเกิ้ลอีกเช่นกันยุคนี้ไม่ยากเกินกำลังค่ะ


มาถึง ตัวละคร วางตัวพระเอก นางเอก ก่อนเลยค่ะ เป็นใคร ชื่อเสียงเรียงนาม อายุ เป็นตัวละครในยุคใด วางนิสัยใจคอไว้ก่อน พระเอก นางเอก จะไม่ออกบทแรกก็ได้ แต่ขอแนะนำว่า บทแรก คุณไม่ควรให้มีตัวละครออกมาเยอะ คนอ่านจะสับสนตามไม่ทัน อ่านแล้วเบื่อที่จะกลับไปเปิดบทแรกว่าคนเหล่านี้เป็นใคร มีความสำคัญไหม ก็จะหมดความสนใจติดตามค่ะ


ขึ้นต้น( จะเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลาหรือไม่ก็ต้องลองดู ) งานเขียนยากตรงนี้แหละค่ะ อารัมภบทอย่างไรจึงจะน่าสนใจ จะขึ้นเป็นกลอนนำเพราะ ๆหรือจะเป็นเหตุการณ์ ที่จะนำไปสู่เรื่องราวการพบกันของพระเอกนางเอกไหม เพราะมันจะเป็นจุดขายน่ะค่ะ อันนี้ก็ไม่สามารถแนะนำได้ อยู่ที่จินตนาการของคุณล่ะค่ะ ทีนี้พอได้ขึ้นอารัมภบทเสร็จ คราวนี้คุณก็จะต่อไปได้เรื่อย ๆ เขียนเลยค่ะ คิดอะไรได้ลงมือ อย่ากังวลความสวยหรู ความต่อเนื่อง อันนั้นมาขัดเกลาหรือ edit ทีหลังได้ค่ะ เจตนาคือหากคุณกำลังมีความคิดคุณต้องเขียนเลย หากรอไปจะลืม หรือจะหมดอารมณ์ ต่อให้บางเรื่องคุณจะต้องใช้เวลาเป็นปี ๆก็โอเคนะคะ บางเรื่องของดิฉันใช้เวลาถึงเจ็ดปี คือเขียนไป หยุดไปเพราะมันต่อไม่ได้ ตัวเองอ่านแล้วยังไม่สนุกเลยแล้วจะให้คนอื่นสนุกได้อย่างไร เรื่องถึงทางตันเมื่อไรดิฉันหยุดค่ะไม่ฝืน


อารมณ์ของนักเขียนนิยาย อันนี้สำหรับดิฉันสำคัญมากค่ะ หากว่ามีปัญหารอบด้าน มีความกังวล งานเขียนก็จะชะงัก เมื่อใดคุณรู้สึกเช่นนี้ ควรหยุดเขียนไปก่อน เพราะงานเขียนจะฝืด คือเราจะรู้ตัวเองค่ะ ดิฉันเป็นคนรักเสียงดนตรีไทยเดิม หากอารมณ์ยังไม่ค่อยหวานในบทที่จะต้องหวาน ก็จะเปิดเพลงไทยเดิมฟังระหว่างเขียน ประเภท ลาวดำเนินทราย ลาวล่องน่าน ความหวานจะมาเลยค่ะ หรือไม่ก็เปิดไทยสากลที่ทำให้เราอยู่ในจินตนาการแห่งความละมุนอุ่นรักได้ เช่น เสน่หา หรือ ความรักเอย หรือบุพเพสันนิวาส เป็นต้นฯ



นิยายต้องมีความขัดแย้งปนอยู่ถึงจะสนุก ตัวละครที่จะมานำความขัดแย้งเป็นใคร จำเป็นเพราะนิยายจะดำเนินไปแบบแฮปปี้ทั้งเรื่องก็จะไม่สนุก อย่าลืมแทรก ”ตัวป่วน” ไปด้วยนะคะ


ทีนี้ ความยาวของเรื่อง เราจะกะให้ยาวแค่ไหน หากคุณมีตัวละครมาก และไม่สามารถจะปิดความขัดแย้งของตัวละครนั้นได้ เรื่องของคุณก็จะลากยาว อันนี้สำคัญมากค่ะ มันจะทำให้คุณจบเรื่องไม่ได้ทั้ง ๆที่คุณก็มีพล็อตที่จะจบ แต่การที่จะโยงเรื่องไปถึงตอนจบนั้นมันต้องมีดีเทลที่พาไปนะคะ


ย้อนเล่าตัวอย่างนิดหนึ่งว่า แรงบันดาลใจในการเขียน นวนิยายเรื่องแรกของดิฉัน “ลิขิตรักจากเถ้าธุลี” ต้องการเขียนให้เป็นเรื่องโรแมนติกแนวท่องเที่ยวอิงเหตุการณ์ เมื่อช่วงตึกเวิร์ลเทรดที่นิวยอร์กโดนผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนตึกในปี ค.ศ. 2001 (11 กันยายน พ.ศ. 2545 หรือที่รู้จักกันว่า 911) ด้วยความสะเทือนใจที่ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้เราทำร้ายกันได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ


เมื่อมีแรงบันดาลใจว่าเพราะอะไรอยากเขียนแล้ว พล็อตเรื่องของดิฉันจึงเขียนให้พระเอกเป็นนักกู้ภัยเป็นคนไทยในอเมริกา นางเอกเป็นสาวมั่นที่มีความคิดว่าคนอเมริกันนั้นไม่น่าคบ แต่เธอต้องเดินทางมาอเมริกาเพื่อตามหาญาติที่เชื่อว่าอยู่ในเหตุการณ์ภัยภิบัติที่นิวยอร์ก ไม่รู้จักใครที่นิวยอร์กต้องมาพักเพื่อรอฟังข่าวที่ซานฟรานกับบ้านของเพื่อนญาติผู้นั้น พระเอกเป็นลูกชายของญาติและช่วยเหลือเธอติดต่อตามหาลูกพี่ลูกน้องที่นิวยอร์กให้เธอ ระหว่างนั้นเขาก็มีโอกาสพาเธอไปตามสถานที่สำคัญ ๆต่าง ๆในซานฟรานซิสโก วางบทให้นางเอกมีความคิดอ่านที่ไปในทางลบกับอเมริกา พระเอกก็จะมีคำตอบในแต่ละความคิดนั้น ๆ นี่คือหัวใจของเหตุผลที่ดิฉันเขียนเรื่องนี้ ส่วนเรื่องรักโรแมนติกเป็นสีสันของเรื่องค่ะ เพราะว่ามีโอกาสนำคอมเมนต์แบบลบ ๆที่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เข้ามาเขียนดังกล่าวข้างต้น ให้พระเอกได้อธิบาย และจบลงด้วยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่เข้าใจกันและผูกพันกลายเป็นความรักจบลงด้วยดี ส่วนปัญหาการเมืองที่คนมีความคิดด้านลบกับอเมริกาก็ปล่อยไปเพราะเราไม่สามารถแก้ไขได้ในความเป็นจริง


และเติมว่าในการเขียนเรื่องนี้ นอกจากดิฉันจะนำเสนอสถานที่เที่ยวในซานฟรานซิสโกแล้ว ดิฉันยังทำการบ้านด้วยการไปพบกับหน่วยกู้ภัยในเมืองซานฟรานซิสโกเลยล่ะค่ะ ดิฉันเขียนจดหมายถึงหน่วยงานถึงเจตจํานงที่จะเขียนถึงการใช้ชีวิตและการทำงานกู้ภัยของนักดับเพลิง และได้รับคำตอบเชิญให้เข้าไปดูสถานที่ได้ คือ Fire Station #1 ในตัวเมืองซานฟรานซิสโกเลย วันนั้นได้รับการต้อนรับอย่างดี เขาพาทัวร์สถานที่และยังพาขึ้นรถดับเพลิงไปตามถนนในเมืองอีกด้วย เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ กัปตันของหน่วยเป็นคนญี่ปุ่นอเมริกัน นามว่า Lt. Ron Tsujimoto น่ารักและให้ความร่วมมืออย่างดี แถมหมวกและเสื้อของหน่วยมาให้อีก เสียดายไม่ได้แถมหนุ่มหล่อ ๆล่ำสันสูงใหญ่ของหน่วยมาให้ด้วย อิ อิ นี่แหละค่ะ การวางพล็อต การแสวงหาข้อมูลให้ถูกต้องเพื่อมาประกอบงานเขียนทำให้ทุกอย่างลงตัวค่ะ





สมมุติว่าคุณเขียนจบแล้วนะคะ พร้อมกลับไปอ่านทบทวนอีกที คราวนี้ต้องละเอียดค่ะ ดูความต่อเนื่องของเหตุการณ์และตัวละคร โดยเฉพาะหากคุณเว้นวรรคงานเขียนไปพักหนึ่ง บางทีเราจะลืมความต่อเนื่อง และหากมีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนิทกันและเป็นคนชอบอ่านนิยาย ก็อาจจะให้เขาช่วยอ่านและแนะนำ ดิฉันโชคดีมีเพื่อนที่ชอบอ่านนิยายและเป็นคนอ่านแบบละเอียด ติชมตามตรง เพื่อนคนนี้ต้องขอเอ่ยชื่อให้เครดิตเพราะอ่านต้นฉบับทุกเรื่องก่อนดิฉันส่งพิมพ์เลยค่ะ ขอบคุณ คุณนา จินตนา กาญจนามาระกุล ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่เป็นกำลังใจและให้คำแนะนำตลอดมา


เมื่อ Edit แล้ว ตรวจทานงานเขียนแล้ว ได้รับคำแนะนำแล้ว คราวนี้คุณพร้อมจะส่งต้นฉบับ จะส่งไปที่ใดบ้างและหากเขารับเรื่องของเราจะมีค่าตอบแทนอย่างไร ขึ้นอยู่กับอะไร ต้องขออุบไว้ตอนหน้านะคะ รอแป้ปค่ะ เพราะเรื่องนี้ข้อมูลดิฉันต้องเป็นไปตามความจริง ขอไปหาโน๊ตและหนังสือสัญญาที่เคยทำไว้มาศึกษาว่าจะลงได้แค่ไหนนะคะ


ก็ขอจบตอนที่ ๒ ตรงนี้นะคะ คราวหน้าเป็นตอนสุดท้ายล่ะค่ะ ขอบอกว่าเรื่องแนะนำการเขียนนวนิยายนี้ยังไม่เคยเขียนบันทึกให้ใครมาก่อน มอบให้ The Renewal เพื่อเป็นความรู้ให้สังคมจากประสบการณ์ค่ะ


เพ็ญวิภา (ปิยวิทยาการ) โสภาภัณฑ์

“ลิลิตดา”

March 2021

Comments


  • Facebook
  • Instagram

©2021 by The renewal. Proudly created with Wix.com

bottom of page