เล่นให้ชีวิตมีคุณค่า แบบไม่มีคำว่า “เกษียณ”
- ภูมิ ภูติมหาตะมะ
- Feb 16, 2021
- 1 min read

เสริมชัย ตฤติยศิริ เถ้าแก่สุดแนวแห่งย่านตลาดน้อย
หลายๆ คนที่ครอบครัวยังถือธรรมเนียมปฏิบัติไหว้เจ้าในเทศกาลประเพณีจีนรอบๆกรุงเทพมหานคร อาจคุ้นเคยกับกล่องขนมสีสันสดใสที่มีภาพเขียนลวดลายกระต่ายชมจันทร์หรือคู่แต่งงานตามขนบแบบจีน บรรจุขนมเปี๊ยะทั้งก้อนขนาดใหญ่สะใจ และก่อนขนาดลูกมะนาวพอดีคำ ทั้งทรงกลม รูปลูกท้อ
รูปปลา และรูปหมู ส่งกลิ่นหอมกรุ่นจากแป้งสาลี น้ำตาล ถั่วและงา ที่ผ่านการอบมาอย่างพิถีพิถันจากโรงงานขนมยี่ห้อ “แต้เล่าจินเส็ง” ซึ่งเป็นโรงงานขนมเปี๊ยะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในย่านเยาวราช-ตลาดน้อยมายาวนานกว่า 70 ปี และยังคงสืบทอดกรรมวิธีผลิตขนมด้วยการปั้นแต่ละชิ้นด้วยมือโดยช่างขนมยอดฝีมือ เฉกเช่นสไตล์โฮมเมดและคราฟท์ (craft) ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
อาเฮียเสริมชัย ตฤติยศิริ หรือ “เสี่ยเกี๊ยก” อายุ 59 ปี เจ้าของร้านแต้เล่าจินเส็ง ได้หยิบโบรชัวขนาด 8 พับของร้านที่ตีพิมพ์เพื่อโฆษณาในยุค 70’s (ค.ศ.1961-1970) ออกมาคลี่ให้ดู พร้อมเล่าให้ฟังว่าย้อนกลับไปในสมัยก่อนที่ร้านมีทั้งขนมตำรับแบบจีนและขนมเบเกอรี่แบบฝรั่งขายอยู่ควบคู่กันนอกจากขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะไส้ต่างๆ ทั้งเค็มหวานแล้ว ยังมีขายขนมเค้กสไตล์ต่างๆ เช่น แยมโรล โดนัท เอแคลร์ ขนมวุ้น ขนมไส้ครีมน้ำตาล ฯลฯ แต่ภายหลังก็เลิกทำขนมเบเกอรี่แบบฝรั่งไป คงเหลืออยู่เพียงชนิดเดียวที่ยังขายอยู่ในปัจจุบันคือ “ขนมมะพร้าว” ซึ่งมีลักษณะเป็นทาร์ตที่แน่นพูนด้วยมะพร้าวรสหวานมัน นับเป็นขนมชิ้นแห่งความทรงจำในยุค 70’s ที่พาอาเฮียเสริมชัยย้อนกลับไปถึงวันเก่าๆ เล่าสู่กันฟังนานๆ ครั้ง ถึงชีวิตและความคิดที่ใกล้ชิดอยู่กับขนมนมเนย
อาเฮียเสริมชัยเกิดในครอบครัวคนจีนในยุค 60’s (ค.ศ.1951-1960) ซอยเยาวพานิชแถวย่านเยาวราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านแต้เล่าจินเส็งแห่งแรก เมื่ออายุได้ 5 ขวบ พ่อก็พาย้ายมาอยู่ที่ตลาดน้อย แต่ก็ยังเทียวไปเทียวมากับร้านที่ซอยเยาวพานิชเป็นประจำ มาถึงก็วิ่งเล่นอยู่แถวๆ ร้านขนม ซึ่งอยู่ติดกับโรงหนังเทียนกัวเทียน อาเฮียก็มักเข้าไปเล่นและนั่งดูหนังในโรงตั้งแต่ยังเล็ก จนหลงจู๊ที่ร้านขนมต้องมาติดต่อขอฝากอาเฮียเสริมชัยไว้กับพนักงานตรวจตั๋วหนัง พร้อมนำขนมแอแคลร์จากที่ร้านติดมือไปฝากสองชิ้นเป็นน้ำใจในฐานะเพื่อนบ้าน พนักงานในโรงหนังก็ใจดีพาอาเฮียขึ้นไปดูหนังบนชั้นของนักพากย์หนังอยู่เสมอๆ อาเฮียจึงค่อยๆ ซึมซับชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก หนังส่วนใหญ่ที่ชอบในตอนนั้นคือหนังจีน
ของชอว์บราเดอส์ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ตระเวนไปดูหนังที่โรงหนังโอเดียนบ้าง โรงหนังวอร์เนอร์บ้าง บางครั้งก็ตามแม่ไปดูหนังแนวโรแมนติกที่โรงหนังกรุงเกษม ตามอาม่าไปดูหนังแขกที่โรงหนังเท็กซัสนอกจากนี้ การ์ตูนเหล่าฟู่จื่อ (สามเกลอ) ของฮ่องกง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่โปรดปรานที่สุดในวัยเด็ก ช่วยให้คุ้นเคยกับการอ่านภาษาจีน บางทีติดขัดอ่านคำบางคำไม่ได้ก็ถามผู้ใหญ่ ด้วยความอยากรู้ตามประสาเด็ก ก็จำได้ว่าถามเสียจนผู้ใหญ่รำคาญ

อาเฮียเสริมชัยชอบเดินเที่ยวเตร่ไปทั้งในย่านสำเพ็งและตลาดน้อย เมื่อเข้าเรียนก็มีความรู้สึกว่าในเวลานั้นสิ่งรอบๆ ตัวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันที่ปรากฏให้เห็นหนาตาขึ้น รวมไปถึงขนมขบเคี้ยวนำเข้าจากต่างประเทศที่เริ่มวางจำหน่ายในห้างทันสมัยในยุคนั้นอย่าง ห้างแมวดำและห้างไนติงเกล เป็นต้น แม้ว่าจะคุ้นเคยกับเรื่องขนมเป็นอย่างดีมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็จำได้ดีว่าตัวเองเพิ่งได้เคยกินป็อบคอร์นแบบบรรจุกระป๋องจากฮ่องกงที่รสชาติอร่อยแบบนั้นเป็นครั้งแรก
พ่อกับแม่ของอาเฮียเสริมชัยเป็นคนสำคัญที่บุกเบิกและพัฒนาร้านและโรงงานขนมที่ตลาดน้อยจนเป็นที่รู้จัก พ่อเคยเรียนที่ประเทศจีน เดินทางบ่อย จึงเห็นโลกกว้าง ไปทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น เห็นการผลิตขนมที่ทันสมัยในต่างประเทศยุคนั้น จึงพยายามนำประสบการณ์มาปรับเปลี่ยน ตัดสินใจริเริ่มนำเอาเตาอบแบบอุตสาหกรรมมาใช้อบขนมเพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น ในขณะที่ขั้นตอนอื่นๆ ยังคงต้องอาศัยกรรมวิธีที่สืบทอดมาแบบโบราณควบคู่กันไป พ่อเป็นคนทำงานหนัก โดยเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัยเพียง 40 กว่าปี ในขณะนั้นอาเฮียเสริมชัยอายุประมาณ 10 ขวบ แม่ก็ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวพร้อมทั้งเป็นเสาหลักดูแลกิจการโรงงานและร้านขนมเป็นต้นมา
หลังจากอาเฮียเสริมชัยจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ก็มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่สหรัฐอเมริกาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และเริ่มทำงานประจำเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินไทยเมื่อตอนอายุ 27 ปี ด้วยประสบการณ์ที่ครอบครัวพาไปกินอาหารนอกบ้านเป็นประจำตั้งแต่เล็ก ทั้งโรงแรมชั้นนำและภัตตาคารใหญ่ๆ เมื่อต้องเข้ารับการอบรมเรื่องเกี่ยวกับการบริการอาหาร ส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก ในช่วงนั้นการบินไทยเปิดเส้นทางบินใหม่ๆหลายเส้นทาง และต้องการลูกเรือที่เก่งภาษาอังกฤษจำนวนมาก อาเฮียเสริมชัยก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลต้อนรับในเส้นทางบินทวีปยุโรปและอเมริกา ต่อมาเมื่อเริ่มมีประสบการณ์เป็นลูกเรืออาวุโสดูแลผู้โดยสารในชั้นธุรกิจ มีประเภทอาหารสำหรับให้บริการหลากหลายขึ้น ก็พยายามเอาใจใส่ประยุกต์เสิร์ฟอาหารให้เข้ากับลักษณะความต้องการของผู้โดยสาร โดยหมั่นสังเกตและเรียนรู้จากลูกเรือรุ่นพี่ที่ทำงานในชั้นเฟิร์สคลาส ด้วยความเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ใคร ในการทำงานก็ต้องดูแลบริการให้ผู้โดยสารประทับใจ แม้บินในเที่ยวบินยาวๆระยะทางไกล ก็ต้องคอยสแตนบายไม่เคยได้หลับบนเครื่องบิน บางครั้งผู้โดยสารชาวไทยไม่คุ้นเคยกับอาหารชั้นเลิศต่างวัฒนธรรมที่เสิร์ฟบนเที่ยวบิน เช่น ไข่ปลาคาร์เวีย อาเฮียก็จะหาวิธีนำไข่ปลาคาร์เวียไปคลุกกับผักสลัดและปรุงรสให้เป็นเมนูคล้ายยำให้ดูกินง่าย ตักปาดลงบนหน้าขนมปังชิ้นนุ่มๆ เสิร์ฟให้ผู้โดยสารได้ลองชิมเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากคนที่มีหัวใจบริการ ทำให้ลูกค้าจดจำประทับใจในเที่ยวบิน
อาเฮียเสริมชัยคุยเสริมว่า เวลาอยู่บนเครื่องนานๆก็ไม่รู้จะซีเรียสไปทำไม มีจังหวะก็พยายามทำให้ผู้โดยสารหัวเราะทะลึ่งไปบ้างตามสถานการณ์ บางครั้งตอนอยู่ในส่วนครัวอุ่นอาหารที่ต้องยัดและดันกล่องอาหารเข้าไปเก็บในชั้นวางถาด ก็เล่นมุขจนผู้โดยสารอดใจไม่ไหว ถึงกับแอบเปิดม่านเข้ามาดู ก็หัวเราะกันใหญ่ น้องๆแอร์โฮสเตสก็ชอบมาช่วยกันอยู่ใกล้ๆ อาเฮียเป็นคนทำงานฉับไว คล่องแคล่ว มั่นใจ อัธยาศัยดี และมีใจชอบช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน จนสุดท้ายก็ได้รับการโปรโมทให้มาดูแลผู้โดยสารในชั้นเฟิร์สคลาส และได้รับการยอมรับให้เป็นเซียนในเรื่องการให้บริการอาหารผู้โดยสารบนเที่ยวบิน ทั้งนี้ในสมัยก่อนการบริการบนเที่ยวบินมีรายละเอียดซับซ้อนและหลากหลายมากกว่าในปัจจุบัน พนักงานต้อนรับต้องมีความรอบรู้และมีฝีมือในการพลิกแพลงจัดเสิร์ฟอาหาร รวมถึงต้องมีความสามารถในการหั่นสเต็กให้เป็นด้วย
อาเฮียเสริมชัยทำงานที่การบินไทยมาเป็นเวลา 25 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออก ในขณะที่เหลือเวลาทำงานตามกำหนดอีก 4 ปี เนื่องจากต้องรับการรักษาผ่าตัดหลังนับจากนั้นสถานที่ทำงานจากเครื่องบินโบอิ้งลำมหึมาที่ทะยานอยู่บนฟ้า ก็ย้ายมาอยู่ที่โรงงานและร้านขนมอันหอมกรุ่นที่หยั่งรากลึกจากความผูกพันของครอบครัวอย่างเต็มตัว ในขณะที่สปิริตการทำงานก็ยังไม่จางหายคอยแสวงหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาทดลองประยุกต์สร้างสรรค์รสชาติขนมตำรับโบราณให้แปลกใหม่เข้ากับยุคสมัย เช่น พิทาชิโอ ทุเรียนหนามดำ และกาแฟ เป็นต้น
อาเฮียเสริมชัยให้ข้อคิดในการทำงานแบบคนรุ่นเก๋าว่า เวลาทำงานให้สนุกกับงาน งานยากแค่ไหน ให้สนุกไว้ก่อน ที่สำคัญต้องรู้รายละเอียดงานว่ามาตรฐานของงานคืออะไร อะไรคือต่ำกว่ามาตรฐาน อะไรคือทำแล้วดีกว่ามาตรฐาน ส่วนใหญ่อาเฮียจะทำให้ดีกว่ามาตรฐานไว้ก่อน การให้บริการลูกค้าก็ต้องสังเกตลักษณะของลูกค้าด้วย อย่างการขายขนมมงคลที่ร้าน ปกติแล้วถ้ามีคู่แต่งงานหนุ่มสาวมาสั่งซื้อขนมไปใช้ในพิธีหมั้นและแต่งงาน อาเฮียเสริมก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจถึงความหมายของขนมแต่ละชนิดก่อน แต่บางทีคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยอยากฟังอะไรยาวๆ บางคู่ก็แต่งงานเพราะจำเป็นต้องแต่ง ไม่ได้ตั้งใจจะคบกันเป็นคู่ชีวิตก็มี ในขณะเดียวกัน พ่อแม่หลายๆ ครอบครัวในปัจจุบันก็ไม่เคยมีเวลาให้ลูก
ด้วยเป็นคนที่ชอบเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารมาตั้งแต่ยังหนุ่ม หาโทรศัพท์มือถือมาใช้ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก พอเริ่มมีพวกสื่อสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็หัดใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองชอบสะสม โดยเฉพาะเรื่องรถ เรื่องปืน และเรื่องพระบูชา นอกจากนี้ ยังชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากจนติดเกมไปพักหนึ่ง ตอนใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาก็เล่นตั้งแต่เกมแพคแมนไปจนถึงเกมตู้หยอดเหรียญครั้งละ 25 เซนต์ พอกลับมาเมืองไทยก็คอยเสาะหาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ช่วยประมวลผลให้เล่นเกมได้สนุกขึ้น แต่ปรากฏว่าที่ได้มาก็ยังช้าไม่ทันใจจึงตัดสินใจเริ่มศึกษาหาวิธีประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เองซื้หนังสือมาอ่านเป็นตั้ง และอัพเดทอุปกรณ์ให้เครื่องทำงานได้เร็วและแรงขึ้นอยู่ตลอดเวลา พอเล่นเกมมากๆ เข้าสายตาก็เริ่มมีปัญหาจึงเลิกไป อย่างไรก็ดี ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เคยสนใจก็ได้นำมาใช้ในการปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายขนมทางออนไลน์ด้วย โดยมีพนักงานที่ร้านคอยรับออเดอร์ลูกค้าผ่านกล่องข้อความทางไลน์และแมสเซนเจอร์อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังจัดให้มีรายการไลฟ์ผ่านทางเฟสบุ๊คเชิญชวนให้ลูกค้าประจำและสมาชิกในแฟนเพจเข้ามาร่วมกิจกรรมชิงรางวัลขนมจากทางร้านด้วย
อาเฮียเสริมชัยเมื่อย่างเข้าวัย 60 ปี มองไลฟ์สไตล์ของคนในวัยใกล้เกษียณว่า หากคนกลุ่มนี้อายุใกล้ 60 ปี และคิดว่าตัวเองถึงเวลาต้องเกษียณ อย่าเกษียณให้ลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้สักอย่างเพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ไม่ว่าจะขายของเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นจิตอาสาทำในสิ่งที่ถนัด หาแรงบันดาลใจทำสิ่งที่สร้างสรรค์ เพราะถ้าคิดว่าเกษียณแล้ว ต้องพักผ่อนในยามชรา ชีวิตต่อไปข้างหน้าอาจจะไม่มีความหมาย อย่างน้อยอยู่ที่ตัวคุณเองว่าชอบอะไร จงทำให้ตัวเองมีคุณค่า ตราบใดที่ยังยืนได้เดินได้ และถึงแม้ว่าเป็นโรคเดินไม่ได้ ก็ต้องพยายาม ... เวลาทำงานให้สนุกกับงาน เวลาเกษียณก็ให้สนุกกับคุณค่าที่สมวัยเกษียณ



Story by
ภูมิ ภูติมหาตะมะ สอนที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น ชุมชน ผู้คน จึงมีเรื่องเล่าไม่เคยซ้ำจำไม่มีหมด
ติดตามผลงานสนุกๆ ของอาจารย์ได้ที่นี่
Comments