มองผ่านเลนส์
- อา จิ โกะ
- Feb 8, 2021
- 1 min read
Updated: Feb 24, 2021

เมื่อกล่าวถึงสุนทรียภาพ สุนทรียภาพก็คือ ลักษณะที่ถ่ายทอดความงาม ความงดงามในความเป็นตัวตนของสรรพสิ่งถ่ายทอดให้บริบทรอบข้างได้รับรู้และความงดงามนั้นคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความพอใจ ต่อผู้ที่พบเห็น ทั้งนี้ความงามก็ยังสามารถให้ความรู้สึกที่เพลิดเพลินและมีความสุขได้ เมื่อได้รับรู้หรือได้เห็น

เมื่อพูดถึงเรื่องสุนทรียภาพเจ้าของโพสต์ก็นึกถึงใครคนอื่นใดไม่ได้เลยนอกเสียจาก อาจารย์วิศาล น้ำค้าง ซึ่งอาจารย์วิศาล ที่เป็นทั้งศิลปิน และช่างภาพมืออาชีพระดับประเทศ ซึ่งเกิดจากความบังเอิญที่เจ้าของโพสต์ได้เคยไปร่วมงานกับท่านเมื่อไม่นานมานี้ และวันนี้ได้มีโอกาสที่ได้ไปสัมภาษณ์ท่าน เกี่ยวกับมุมมองการถ่ายภาพ และมุมมองการใช้ชีวิตตามสไตล์อาจารย์ ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำประวัติคร่าวๆของอาจารย์วิศาลก่อน

อาจารย์ชื่อจริงชื่อ วิศาล น้ำค้าง เกิด 12 พ.ค.2499 ที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เริ่มอาชีพแรกโดยการเป็นครูสอนดนตรี ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ จากกรุงเทพฯ แล้วย้ายมาสอนต่อที่ จ.ลำปางและ จ.เชียงราย สอนได้ประมาณ 10 ปี ก็ลาออกมาเล่นดนตรีที่ร้านต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่พอเล่นไปได้สักพัก ก็รู้สึกไม่มีค่อยความสุข เนื่องจากไม่สบายอยู่บ่อยๆ จากอาการแพ้ควันบุหรี่ เลยต้องหยุดการเล่นดนตรี แล้วกลับมาเขียนภาพเหมือนที่เคยทำมาก่อน เขียน ภาพสีน้ำ สีอะครีลิค และ ผ้าบาติก ซึ่งสมัยนั้นใช้ชื่อว่า The Best Batik ค่อนข้างที่จะโด่งดังและขายดีมากๆ จนมีหนังสือพิมพ์ แม๊กกาซีนต่างๆ เข้ามาขอสัมภาษณ์ จากการเขียนภาพต่างๆ เหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นในการถ่ายภาพ

การเขียนภาพสีน้ำ หรือผ้าบาติกนั้น แต่ละภาพใช้เวลาเขียนนานอยู่ไม่น้อย เมื่อเสร็จแล้ว กลับมามองผลงานของตัวเอง ซึ่งบางชิ้นงานก็สวยจนอยากจะเก็บมันไว้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องนำภาพไปขายเพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชีวิต ด้วยเหตุนี้ในปี 2536 จึงตัดสินใจหาซื้อกล้องมือสองมาหนึ่งตัว จุดมุ่งหมายเพื่อจะนำมาใช้ถ่าย Copyงานภาพเขียนของตัวเองเก็บไว้ดูบ้าง เมื่อถ่ายหมดม้วนจึงนำฟิล์มไปล้าง สิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือ งานที่เราใช้เวลาวาดนานๆ นั้น แต่กล้องกลับสามารถให้ภาพที่สวยงามออกมาได้อย่างรวดเร็วเพียงเสี่ยววินาที ซึ่งมันน่ามหัศจรรย์มาก เลยมีความคิดว่ากล้อง คงจะสามารถทำอะไรๆได้มากกว่านี้ จึงเริ่มหาซื้อหนังสือถ่ายภาพมาอ่าน จนไปเจอการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อต่างๆ จึงลองส่งภาพไปประกวดดูบ้าง และก็ได้รับรางวัลมาเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี เมื่อเริ่มเข้ามาปีที่ 2 ก็เขียนภาพไปด้วยถ่ายภาพไปด้วย และรับถ่ายงานโฆษณาให้กับเอเจนซี่ต่างๆ ในเชียงใหม่เป็นหลัก จนพี่ป้อมกับพี่อุ้มแห่งร้านสบันงา มาชวนไปร่วมเปิดสตูดิโอด้วยกัน แถวช้างคลาน (ไนท์พลาซ่า)เชียงใหม่
พอเข้าปีที่ 3 ของการถ่ายภาพ 2539 บก.หนังสืออนุสาร อสท.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาติดต่อและเชิญให้ไปร่วมงานถ่ายภาพ “หนังสือราชอาณาจักรไทย ๕๐ ช่างภาพบันทึกแผ่นดินทองฉลองกาญจนาภิเษก” ฉลองครบรอบ 50 ปี ครองราชย์ กาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชกาลที่9 เพื่อนำภาพถ่ายไปทำหนังสือเฉลิมฉลองให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชกาลที่ 9 ซึ่งต้องการช่างภาพ 50 คนทั่วประเทศและชื่อ อาจารย์วิศาล น้ำค้าง ก็ติด 1 ในช่างภาพ 50 คนนี้ด้วย นับตั้งนั้นมา ปี 2539 คนถึงปัจจุบัน ก็ได้ถ่ายภาพให้ อนุสาร อสท.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาโดยตลอด ระหว่างนั้นก็ได้มีงานหนังสือตาม วาระต่างๆ อีกหลายฉบับ และมีการถูกเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับการถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ จึงมีแต่คนเรียกอาจารย์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่เคยได้เรียนการถ่ายภาพมาโดยตรง เรียนแต่มาสอนดนตรีเท่านั้น ฉะนั้น งานที่รักที่สุดก็คือ การวาดภาพ และ
การเล่นดนตรี

เมื่อมาพูดถึงมุมมองการถ่ายภาพ มุมมองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการถ่ายภาพนั้น คงต้องแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนที่เข้ามาชมผลงานของเรา ว่าเขามองเห็นอะไร เขาชอบ หรือไม่ชอบอะไรในผลงานเรา แต่สิ่งที่สามารถบอกกับทุกคนก็คือ งานถ่ายภาพนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ แม้ว่าเมื่อก่อนยังไม่ค่อยเกิดการยอมรับกันนัก ว่างานภาพถ่ายคืองานศิลปะ แต่ช่วงหลังๆ ก็เกิดการยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะว่างานภาพถ่ายในสมัยนี้ สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลาย สวยงาม และพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องถูกกลั่นกรองมาจากความรู้ ความเข้าใจในเชิงศิลปะของผู้ถ่ายทั้งสิ้น
การถ่ายรูปก่อนที่จะกดชัตเตอร์เราควรจะไตร่ตรองบ้างสักหน่อยว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นเราประทับใจอะไร ไม่ควรกดถ่ายพร่ำเพรื่อ โดยที่เรายังไม่รู้สึกอะไรกับมันเลย หากย้อนคิดไปสมัยในยุคของฟิล์ม ซึ่งม้วนหนึ่งบวกค่าล้างก็ราคาแพง ถ้าเรารับงานมาหนึ่งงานเขาให้ฟิล์มมาแค่ 5 ม้วน ม้วนละสามสิบหกรูป ต้องถ่า 3-4 สถานที่ การบริหารจัดการต้องควรคิดมาก ว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ภาพที่เพียงพอกับงานๆ หนึ่ง หากการถ่ายรูปงานประเพณี เทศกาลต่างๆแล้ว ยิ่งต้องมีความมั่นใจในการถ่าย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว ซึ่งไม่สามารถกลับมาถ่ายได้ใหม่ในวันพรุ่งนี้ รางวัลของการผิดพลาดคือ ต้องรออีกหนึ่งปี ปีต่อไปก็อาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ช่วยฝึกให้เราคิดมากขึ้น ไตร่ตรองและมีสติมากขึ้นเรื่อย กับการทำงานในแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดคุณภาพ และความคุ้มค่าในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ มันได้ผ่านเข้ามาและติดตัวอยู่กันมาหลายสิบปี กระบวนการคิดทุกอย่าง เหมือนถูกปลูกฝั่งไปในตัวโดยอัตโนมัติ
การถ่ายภาพให้ได้ผลเร็ว เราควรต้องเรียนรู้งานศิลปะสาขาต่างๆ มาบ้าง เพื่อแนวคิด มุมมอง ทางศิลปะต่างๆ จะช่วยหลอมรวมเราให้คิดได้เร็ว บางสิ่งบางอย่างในผลงานเรา มันช่วยสะท้อนในสิ่งที่เรากำลังคิด กำลังรู้สึกออกมา ภาพถ่ายที่ดี มักจะต้องมีองค์ประกอบหลอมรวมด้วยกันอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการถ่าย องค์ประกอบ ความรู้สึก และเรื่องราว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยทำให้ภาพดูน่าสนใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันยากยิ่งที่จะเกิดภาพถ่ายที่สมบูรณ์ได้ก็ตาม ในการถ่ายภาพของผมเองที่ผ่านๆ มานั้น ก็ยังไม่เคยมีสักภาพที่สมบูรณ์เลยแม้แต่ภาพเดียว ดังนั้นจึงยังต้องเรียนรู้และฝึกฝนอยู่เสมอ จึงยังต้องถ่ายไปเรื่อยๆ สำหรับผมเองการถ่ายภาพให้ดีนั้นดูเหมือนว่า “ยิ่งถ่ายก็ยิ่งยาก” ขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อเราถ่ายภาพครั้งนี้ได้ดีแล้ว ครั้งต่อไปที่จะถ่ายให้ “ดีกว่า” นั้น มันจะเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นขึ้นไปเรื่อย เปรียบเทียบกับการขึ้นเขาสูง ยิ่งสูงมากขึ้น มันก็ยิ่งชันมาก ทำให้เราต้องคิดมากขึ้นๆ ไม่เหมือนกับตอนแรกๆ ที่เราอยู่บนทางเรียบ จะเดินจะวิ่งสนุกสนานกับมันก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รู้ว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด



การเป็นช่างภาพมืออาชีพ ควรต้องมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และซื่อสัตย์กับงานและตัวเอง และต้องฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็น เพราะหน้างานกับในความคิดที่เรานึกไว้ มันไม่ได้เหมือนกันเสมอ ช่างภาพมืออาชีพควรต้องมีกระบวนการคิด วางแผน เล่าเรื่องราว และมีกระบวนการแก้ปัญหาอย่างมีสติเสมอ ดังนั้น ประสบการณ์ ต่างๆ คือสิ่งที่สำคัญ ที่ช่างภาพอาชีพต้องมี

สุดท้าย หากเรา คิดดี ทำดี มีความพอเพียงได้เมื่อไหร่ ผลงานต่างๆ จะสะท้อนตัวตนและจิตใจของเราออกมาเอง

Story by
วิศาล น้ำค้าง
ช่างภาพอิสระ อสท.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Comments