วัยเกษียณเขียนนิยาย ตอนที่ 3
- Jarunun Chaodee
- May 24, 2021
- 1 min read

และแล้วก็ถึงตอนที่ 3 ของวัยเกษียณเขียนนิยาย ซึ่งได้รับความกรุณาจากนักเขียนชื่อดังจากแดนไกล คุณเพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้แนวคิดดีๆในการเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนในอนาคต ขอบพระคุณ คุณเพ็ญวิภาอีกครั้งหนึ่ง ที่ให้เกียรติมาเขียนบทความดีๆให้กับ The Renewalในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะได้รับบทความดีๆไปจากคุณเพ็ญวิภาต่อไปค่ะขอบคุณค่ะ
ฝันเฟื่องเรื่องนิยายมาถึงตอนสุดท้ายแล้วนะคะ ถ้าผู้อ่านติดตามจากตอนที่ 2 ก็จะเห็นว่ามาถึงช่วงที่เราเขียนนิยายจบแล้ว ตรวจทานแก้ไขแล้ว คราวนี้ก็ถึงคราวที่เราจะตัดสินใจกันละนะคะ ว่าเราจะนำเรื่องที่จินตนาการจบแล้ว ไปขาย ไปแจก ไปโพสต์ ก็ได้เวลาพิจารณาถ้าเขียนเล่นๆ สนุกๆในหมู่เพื่อนฝูง สมัยนี้มีทางเลือกมากค่ะ ไม่ต้องส่งไปสำนักพิมพ์ที่ต้องคอยลุ้นจนหืดขึ้นคออีกแล้ว

เราเขียนลงในFacebookก็ได้ หรือคุณอาจจะสร้างเพจเพจหนึ่งขึ้นมาใน Facebook invite เพื่อนฝูงให้มากดติดตาม หรืออยากจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา อันนี้ถ้าส.ว.อย่างเราตามเทคโนโลยีไม่ทันก็จ้างเขาดีกว่า ดิฉันเคยสร้างเว็บไซต์มาแล้ว ต้องไปจ้างคนมาเป็นแอดมิน คอยเช็คโน่นนี่ อาทิ คนมาคอมเมนต์ จนในที่สุดเว็บโดนแฮก อยู่ดีๆก็มีภาพเรทเอ๊กขึ้นมาเฉยๆ เลยเลิกแล้วเลิกเลย!
หรือบางท่านอาจจะเป็นสมาชิกเว็บไซต์ดังๆ เช่นพันทิปดอทคอม เขามีห้องนิยายให้ ลงให้ฟรีๆแต่เสี่ยงตรงอาจจะโดนคัดลอกผลงานหน้าตาเฉยเคยเห็นเป็นความกันมาแล้ว นักเขียนไม่ชนะคดีเพราะคนลอกเล่นลอกพล็อต ไปเปลี่ยนคำเขียนใหม่ก็กลายเป็นไอเดียของเขาไปแล้ว การไปหาที่ลงที่แฟนเพจนิยายชอบไปอ่านนั้น หากคุณโชคดีมีแมวมองจากสำนักพิมพ์เข้ามาอ่านและถูกใจ ก็อาจจะซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์ ถือเป็นการลงทุนที่ไม่มีค่าใช้จ่าย
ส่วนดิฉันเคยได้เกริ่นไว้แล้วว่าโชคดีที่ส่งเรื่องไปแล้ว สำนักพิมพ์สนใจทันทีนั้น คุณก็ส่งได้นะคะ เข้ากูเกิ้ลเสริชสำนักพิมพ์ที่รับพิมพ์ดูแล้วส่งเลยค่ะ เก็บก็อปปี้ของเราไว้ อ้อ ดิฉันมีพิเศษตรงทุกเรื่องให้หลานที่เมืองไทยนำไปจดลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เขาจะให้เราเขียนเรื่องย่อของงานเขียนแนบไปด้วย ไม่ยากเลยค่ะแล้วเขาก็จะประทับรับเรื่องและให้เลขทะเบียนมาเก็บไว้ให้ดีนะคะเอกสารนี้
เมื่อคุณส่งเรื่องไปถึงสำนักพิมพ์แล้ว ก็ลุ้นรอคำตอบไปค่ะ บางเรื่องก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหกเดือน ถึงเป็นปี และถึงกับไม่ตอบก็มี (อันนี้ที่ได้ยินมาค่ะ)และหากคุณได้รับการตอบรับพิมพ์งานให้คุณ เขาก็จะติดต่อมา และให้เอกสารมาเซ็นทำสัญญา เขาจะบอกละเอียดว่าเรื่องของคุณเขาจะพิมพ์ให้กี่เล่ม ให้กี่เปอร์เซ็นและเป็นลิขสิทธิ์ของเขา เราห้ามไปพิมพ์ที่อื่นและมีเวลาให้ว่ากี่ปีเราจึงจะนำเรื่องนั้นไปพิมพ์เองได้

ราคาขึ้นอยู่กับเขาจะพิมพ์กี่เล่มแล้วให้มาเป็นเปอร์เซ็นของราคาหนังสือที่เขาจะขาย ก็ขึ้นอยู่กับที่เขาให้ราคาเรื่องนั้นขายเท่าไร และความสำคัญกับนักเขียนคนนั้นแค่ไหน ดิฉันไม่สามารถลงรายละเอียดตรงนี้หรือแม้แต่ของตัวเองเรื่องค่างานเขียนแต่ละเรื่องได้ เพราะจะผิดกฏการเปิดเผยข้อมูลค่ะ เพียงแต่จะขอยกคำพังเพยที่ว่า “เป็นนักเขียนใส้แห้ง” น่ะจริงค่ะ คนที่ได้เงินไม่ใช่เรา! นอกเสียจากเราจะเป็นนักเขียนชื่อดังค่ะ เแต่สิ่งที่เราได้ คือ “ความสุข” ที่ได้ทำงานที่รักไงคะ บางครั้งก็ให้คุณค่ากับจิตใจได้มากกว่าเงินทองของนอกกายค่ะ

ส่วนหากจะนำส่งนิตยสารนั้นก็เช่นกัน อย่าง ต่วย’ตูน พ็อกเก็ตแมกาซีนที่ดิฉันเคยส่งไปลง อันนี้เขาจ่ายให้ดีทีเดียวค่ะ แต่ก็เปิดเผยไม่ได้ ถ้าท่านเป็นคนเขียนแนวสนุกๆและมีสาระเขารับพิจารณานะคะ อันนี้ไม่นานค่ะที่เขาจะให้คำตอบ แต่กว่าจะได้ลงก็นานหน่อย นักเขียนและเรื่องเขามีส่งเข้าเยอะค่ะ
สำหรับ ต่วย’ตูน พ็อกเก็ตแมกาซีนนี้ทุกครั้งที่เขาลงให้ ดิฉันจะตื่นเต้นและชื่นใจมากเพราะเราตามนิตยสารนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัย ชอบแนวเขามากได้ลงเจ็ดครั้งก็ภูมิใจที่สุดแล้ว ตอนหลังไม่ได้เขียนส่ง คือเขียนยากเพราะต้องหาเรื่องที่ใส่มุขขำๆและมีสาระ บางทีอารมณ์สูงวัยก็มโนไม่ค่อยออกเสียเลย แต่ชื่นชม บ.ก.มากค่ะ คุณ อุดร จารุรัตน์ เป็นคนน่ารัก มีอัธยาศัยดีมากค่ะ

ลองดูนะคะ แนะนำส่งงานเขียนนิยายของคุณไปตามนี้นะคะ ประพันธ์สาสน์ ซี-เอ็ด อัมรินทร์ นานมีบุ๊ก แจ่มใส สถาพร เป็นต้น ทุกสำนักพิมพ์มีเว็บไซต์ค่ะ พิมพ์ชื่อสำนักพิมพ์ก็จะขึ้นมาค่ะ เสียดายที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าที่รับพิมพ์นิยายดิฉันหลายเรื่อง ตอนนี้ก็ปิดกิจการไปแล้ว เจ้าของขอเอ่ยชื่อ คุณ ณรงศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ เป็นคนสุภาพ น่ารัก และมีสัมมาคารวะค่ะ
ทางเลือกอีกทางคือไม่ง้อสำนักพิมพ์ พิมพ์เองดีไหม หากไม่มีปัญหาการเงินก็ได้เลยค่ะ ติดต่อโรงพิมพ์ บางโรงพิมพ์เขาจะมีคนทำอาร์ตเวิร์กให้ด้วย อันนี้ดีคือเราเลือกปกเลือกรูปเล่มเองได้ โรงพิมพ์เขาจะคิดราคาตามจำนวนหน้า ชนิดของกระดาษ ปกมีกี่สีเขาจะคำนวณให้ และหากคุณพิมพ์จำนวนมาก ราคาก็จะถูกลง ส่วนมากเขาจะแนะนำให้พิมพ์เกินพันเล่มขึ้นไป เขาจะเป็นคนไปขอจดเลขหนังสือคุณที่เรียก ISBN จากหอสมุดแห่งชาติให้คุณเอง
เมื่อเขาพิมพ์เสร็จคุณจะจำหน่ายอย่างไรขึ้นอยู่กับคุณ สมัยนี้ลงโฆษณาขายออนไลน์เองก็ได้ แต่หากจะวางขายตามร้านหนังสือเขาจะไม่รับวางขายตรงจากคุณ คุณต้องไปหาผู้จัดจำหน่ายเอง ซึ่งผู้จัดจำหน่ายในตลาดเมืองไทยมีไม่กี่เจ้า เขาจะไม่เสี่ยงกับนักเขียนที่ไม่รู้จักชื่อนัก และคุณต้องมีจำนวนพิมพ์เกินสามพันเขาจึงจะรับจัดจำหน่ายให้ และเชื่อไหมว่าเทคนิคการวางหนังสือในร้านใหญ่ๆนั้น จะแย่งเนื้อที่วางด้านดิสเพลย์ตรงที่คนมองเห็นกัน ขี้นอยู่กับเส้นของสำนักพิมพ์ด้วยนะเนี่ย! หากคุณยังไม่มีชื่อเสียง หนังสือคุณจะไปวางอยู่ด้านในๆ

อ่านแล้วเหนื่อยใจไหมคะในโลกนี้มีแต่การแข่งขัน หากว่าเราสูงวัยเขียนสนุกๆก็อย่าไปลงสนามแข่งขันกับเขาเลยค่ะ สร้างเพจของเราเอง ลงของเราเอง อยากให้คนอื่นนอกเหนือจากเพื่อนเห็นและตามอ่านได้ก็โพสต์งานเขียนตั้งเป็นสาธารณะ (Public setting) ที่เห็นเป็นรูปลูกโลกกลมๆตอนเราโพสต์Facebook น่ะค่ะ หากเรื่องสนุกคนเขาก็จะแชร์ต่อให้เอง แค่นี้ ส.ว.ก็แฮปปี้แล้วค่ะ พอเพียงค่ะ พอเพียง ท่องไว้..
หรือมีงานเขียนดีๆนำส่ง อาจารย์ติ๊ก ลง The Renewal เลยค่ะ ไม่แน่นะคะ ในอนาคตหากมีงานเขียนดีๆลงตลอดเวลา อาจารย์อาจจะจัดทำนิตยสารพิมพ์ให้เราได้ลั้ลลาเขียนกันก็ได้นะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะทีมงานอาจารย์ติ๊ก…
สำหรับดิฉัน ก็ขอขอบคุณเนื้อที่ในเพจนี้ ขอบคุณที่ให้เกียรตินะคะ โอกาสหน้าคงได้มาเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ

เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์
ในนามปากกา “ลิลิตดา”
May 16, 2021
Comments